กรมป่าไม้สานต่อโครงการปลูกป่าเชิงระบบนิเวศ (มิยาวากิ) ครั้งที่2

กรมป่าไม้ ปูพรมปลูกป่า “มิยาวากิ” 25,000 กล้า ฟื้นฟูเหมืองผาแดง

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2562 ณ โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.แม่สอด จ.ตาก – นางอำนวยพร ชลดำรงค์กุล รองอธิบดีกรมป่าไม้ เป็นประธานเปิดโครงการปลูกป่าเชิงระบบนิเวศ (มิยาวากิ) ครั้งที่ 2 เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ซุนจิ มูไร พร้อมคณะ Regreen Movement (RGM) ร่วมปลูกต้นไม้ที่มีดอกสีม่วงในแปลงปฐมฤกษ์ และปลูกต้นไม้ 25,000 ต้น ในรูปแบบ “มิยาวากิ” ร่วมกับมวลชนกว่า 500 คน ฟื้นฟูพื้นที่เหมืองผาแดง

          นางอำนวยพร ชลดำรงค์กุล รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้ โดยสำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ ได้ร่วมกับสำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้น้อมนำแนวพระราชดำริในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเหมืองผาแดง เมื่อครั้งทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่ จ.ตาก เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 ทรงมีพระราชดำรัสกับ นายอาสา สารสิน ประธานกรรมการ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) คณะผู้บริหารกรมป่าไม้ และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ณ บริเวณหน้าเรือนรับรองเหมืองผาแดง ในการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าบริเวณเหมืองผาแดง

            โดยสำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้ ร่วมกับสำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ ศาสตราจารย์ ดร.ซุนจิ มูไร ได้ร่วมปลูกป่าในโครงการปลูกป่าเชิงระบบนิเวศหรือการปลูกป่าแบบมิยาวากิ ซึ่งเป็นแนวทางในการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมให้กลับมามีสภาพทางนิเวศของสังคมป่าให้คืนความอุดมสมบูรณ์โดยเร็วโดยนำหลักการปลูกป่าแบบ “มิยาวากิ” ซึ่งเป็นแนวทางการปลูกป่าของ อาจารย์ชาวญี่ปุ่น ศ.ดร.อาคิระ มิยาวากิ ที่ประสบผลสำเร็จในการสร้างผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์มาแล้วมากกว่า 1,500 แห่งทั่วโลก ได้คิดรูปแบบการปลูกป่านิเวศ

 ทั้งนี้โดยมีหลักการสำคัญๆ คือ 1.) พันธุ์ไม้ที่ปลูกจะต้องเป็นชนิดพันธุ์ไม้พื้นเมือง (Native species) เพื่อเป็นการคืนธรรมชาติให้กับท้องถิ่นและทำให้ง่ายต่อการดูแลรักษา 2.) ปลูกพันธุ์ไม้หลายๆ ชนิดปะปนกันทั้งไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม เพื่อให้มีสภาพคล้ายธรรมชาติและมีความหนาแน่นในการปลูก 3 – 4 ต้น ต่อตารางเมตร  โดยทำการปลูกแบบสุ่มไม่เป็นแถวเป็นแนว เพื่อให้ต้นไม้มีการแข่งกันเจริญเติบโตเพื่อความอยู่รอด 3.) การใช้ฟางข้าวคลุมดินเพื่อเป็นการรักษาความชื้นช่วยเพิ่มอัตราการรอดให้สูงขึ้น 

          นางอำนวยพร กล่าวต่อว่า สำหรับ การปลูกป่า “มิยาวากิ” ในวันนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ได้มีการปลูกป่าฟื้นฟูระบบนิเวศ บนเนื้อที่ 5 ไร่ บริเวณโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และพื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สอด ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก โดยมีสำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรมป่าไม้ และศาสตราจารย์ดร.ซุนจิ มูไร พร้อมคณะ Regreen Movement (RGM) จากประเทศญี่ปุ่น 25 ท่าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนร่วมกันปลูกต้นไม้บริเวณพื้นที่ดังกล่าว

          นอกจากนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการปลูกต้นไม้ ดร.ซุนจิ มูไร และคณะ Regreen Movement (RGM) จะได้ร่วมลงทะเบียนปลูกต้นไม้ในโครงการ “รวมใจไทยปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ผ่านเว็บไซด์กรมป่าไม้ https://plant.forest.go.th/ ทั้งนี้ กรมป่าไม้ จะได้มอบใบประกาศนียบัตรในการร่วมปลูกต้นไม้และปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ให้กับ ดร.ซุนจิ และคณะทั้ง 25 ท่าน และประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถลงทะเบียนปลูกต้นไม้ในโครงการดังกล่าวได้เช่นกัน 

          สำหรับกล้าไม้ที่นำมาปลูกในกิจกรรม กรมป่าไม้ได้จัดเตรียมกล้าพันธุ์ไม้ดั้งเดิมหรือไม้ประจำถิ่น อาทิ สำโรง สมอพิเภก หว้า ยางนา แดง และต้นสัก พร้อมด้วยกล้าไม้ชนิดต่างๆ ที่จะนำมาปลูกแซมและเป็นพันธุ์ไม้ที่ให้ดอกสีเหลือง เช่น คูณ เหลืองอินเดีย เหลืองเชียงราย ทองอุไร  จำนวน 25,000 กล้า และจะมีการปลูกฟื้นฟูป่าบนแปลงปฐมฤกษ์โดยใช้พันธุ์ไม้ที่ให้ดอกสีม่วง ได้แก่ อินทนิลน้ำ อินทนิลบก เสลา และต้นตะแบก เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ที่ทรงพระราชทาน  พระราชดำริในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทย และในอนาคตพื้นที่เหมืองแห่งนี้จะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และทดลองปฏิบัติในแนวทางและรูปแบบการปลูกต้นไม้ฟื้นฟูระบบนิเวศสังคมป่าภายหลังการทำเหมือง  เพื่อเป็นต้นแบบในการนำไปขยายผลเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าแห่งอื่นๆ ต่อไป

                                             ———————————–

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *