“Good Life is Free of Killing”

พระเมธีวชิโรดม (ท่าน ว.วชิรเมธี) พร้อมดาราดัง บิณฑ์-ท็อป ดารณีนุช แนะ “ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า”

องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา หรือ ยูเอสเอด (USAID) เปิดตัวโครงการรณรงค์ “ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า” ไม่พึ่งเขี้ยวงา พร้อมวิดีโอตัวใหม่ ที่มีพระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) คุณบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ นักแสดงและผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมพิเศษมูลนิธิร่วมกตัญญู และคุณท็อป ดารณีนุช ปสุตนาวิน พิธีกรและนักแสดง เป็นทูตโครงการ เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ซื้อผู้ใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า อย่างซากเสือโคร่งและงาช้าง เชื่อมั่นในผลของการกระทำของตนเอง แทนการพึ่งพาสิ่งที่มาจากการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ป่าเพื่อความโชคดี หรือการปกป้องคุ้มครอง โดยโครงการรณรงค์ได้รับการสนับสนุนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 

          พระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) ผู้อำนวยการศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย และทูตโครงการ ‘ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า’ กล่าวว่า  “สิ่งที่เกิดจากการเข่นฆ่า มั่นใจหรือว่าจะเป็นมงคล พระพุทธเจ้าบอกว่า จงเชื่อมั่นในการกระทำของตัวเอง ทำดีตอนไหน ตอนนั้นเป็นสิริมงคล เราทำดีวันไหน วันนั้นก็เป็นวันที่ดี ตามหลักชาวพุทธ มงคลในชีวิตขึ้นอยู่กับมันสมองและสองมือของเราเอง พุทธคุณไม่มีทางที่จะไปอยู่ในเครื่องรางของขลังที่มาจากสิงห์สาราสัตว์ได้เลย เพราะพระพุทธคุณหมายถึงปัญญา ความบริสุทธิ์ และความเมตตาอาทร” พระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) ผู้อำนวยการศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย และทูตโครงการ ‘ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า’ กล่าว 

          คุณบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ มูลนิธิร่วมกตัญญู และทูตโครงการ กล่าวว่าสำหรับโครงการรณรงค์ ‘ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า’ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความต้องการซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า อย่างซากเสือโคร่งและงาช้าง ในกลุ่มผู้ใช้และผู้มีความต้องการซื้อที่มีความเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะ “นำความโชคดี” หรือ “มีพลังปกป้องคุ้มครอง”  ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโครงการรณรงค์ “ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า” 

          ทั้งนี้ผลการวิจัยผู้บริโภคและใช้งาช้างและผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งในประเทศไทย โดยโครงการ USAID Wildlife Asia ปี พ.ศ. 2561 พบว่า คนไทยในเขตเมือง ร้อยละ 2 หรือราว 500,000 คน มีหรือใช้ชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์จากงาช้าง และ ร้อยละ 1 หรือราว 250,000 คน มีหรือใช้ชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่ง นอกจากนี้ ร้อยละ 3 หรือราว 750,000 คน มีความตั้งใจที่จะซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้าง หรือผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งในอนาคต และร้อยละ 10 (ราว 2.5  ล้านคน) มองว่าการซื้อขายผลิตภัณฑ์งาช้าง ยังเป็นที่ยอมรับในสังคม ในขณะที่ร้อยละ 7 (ราว 1.8 ล้านคน) เห็นว่าการซื้อขายผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งยังเป็นสิ่งที่ยอมรับได้   โดยเหตุผลหลักในการซื้อ เพราะเชื่อว่างาช้าง “นำความโชคดีมาให้” “ป้องกันอันตราย” หรือ “มีความศักดิ์สิทธิ์” ส่วนผู้ซื้อหรือใช้ผลิตภัณฑ์จากเสือมีแรงจูงใจหลักในการซื้อ เพราะเชื่อว่า “ป้องกันอันตราย/มีพลังปกป้องคุ้มครอง” หรือ “มีความศักดิ์สิทธิ์”

          “ในอดีต ผมเคยใช้ผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า เพราะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้สามารถปกป้องเรา หางาน หาเงินให้เรา แต่แม้มีสิ่งเหล่านี้ติดตัวก็ไม่ได้ช่วยอะไร และพบว่ามันอยู่ที่ตัวเราต่างหาก ทุกวันนี้สิ่งที่ผมเชื่อก็คือ หากเราคิดดี ทำดี ความดีก็จะสามารถปกป้องตัวเราได้ สิ่งที่ผมกราบไหว้ก็คือพ่อแม่ที่บ้าน การช่วยเหลือคน การช่วยเหลือชีวิตสัตว์ ผมว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด” ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ มูลนิธิร่วมกตัญญู และทูตโครงการ กล่าว  

          วิดีโอรณรงค์ “ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า” ความยาว 60วินาที ดำเนินเรื่องด้วยทูตโครงการทั้ง 3 ท่าน ที่ตั้งคำถามกับผู้ชม และผู้นิยมผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องประดับ เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคลที่ทำจากซากสัตว์ป่า ว่าทำไมต้องพรากหรือเบียดเบียนชีวิตอื่น เพื่อให้ตนมีชีวิตที่ดี และปิดท้ายด้วยข้อคิดจากท่าน ว. วชิรเมธี พระนักคิด-นักเขียนชื่อดัง ว่า “สิ่งที่เกิดจากการเข่นฆ่า มั่นใจหรือว่าจะเป็นมงคล” เพราะความมงคลในชีวิตเกิดจากการทำดีเท่านั้น  

          คุณท็อป ดารณีนุช ปสุตนาวิน พิธีกร นักแสดงชื่อดัง และทูตโครงการอีกท่าน มองว่า “สิ่งของที่คิดว่ามีค่า แต่มาจากสัตว์ที่ถูกฆ่านั้น ไม่อาจช่วยให้เรามีชีวิตที่ดี การซื้อเครื่องประดับชิ้นเล็กๆ ก็มีส่วนกระตุ้นให้ช้างและเสือในธรรมชาติตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกล่า เราจึงต้องหยุดยั้งความต้องการในตลาด เพราะหยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า ความก้าวหน้า ความสำเร็จในหน้าที่การงาน มันเริ่มจากการลงมือปฏิบัติ สิ่งที่จะสร้างมงคลให้กับชีวิต ก็คือตัวเราเท่านั้น”

          นายจอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์ องค์กรไวล์ดเอด กล่าวว่าในทุกปี มีช้างมากกว่า 20,000 ตัว ถูกฆ่าเพื่อเอางาในแอฟริกา เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์งาช้างในเอเชีย ขณะที่เสือโคร่งที่เหลืออยู่ในป่าทั่วโลกมีจำนวนน้อยกว่า 4,000 ตัว แต่พวกมันตกอยู่ใน ความเสี่ยงที่จะถูกล่าเพื่อเขี้ยว หนังและกระดูก มีการประเมินว่าอาชญากรรมต่อสัตว์ป่าทั่วโลกมีมูลค่าราว 150,000-700,000 ล้านบาทต่อปี ส่งผลกระทบต่อประชากรสัตว์ป่า วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่ต้องพึ่งพาสัตว์ป่า และบั่นทอนสเถียรภาพทางสังคมและการเมือง  

          “ความสูญเสียที่เกิดจากการลักลอบล่าและค้าสัตว์ป่าเป็นสิ่งที่เราทุกคนช่วยหยุดยั้งได้ และนี่คือภารกิจขององค์กรไวล์ดเอดที่จะต้องเดินหน้ารณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักให้ทุกคนใช้ชีวิตในแบบที่ไม่สร้างความเสียหายให้กับสัตว์ป่า และธรรมชาติ ความเชื่อที่มีมานานในสังคมไทย อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของสัตว์ป่าในปัจจุบัน เราเชื่อว่า ด้วยความร่วมมือจากผู้มีอิทธิพลทางความคิดในสังคม หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงพันธมิตรสื่อมวลชน  “ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า” จะเป็นวิถีใหม่ ที่การใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า อย่างซากเสือโคร่ง และงาช้าง จะไม่เป็นที่ยอมรับดังเช่นที่ผ่านมา”  ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์ องค์กรไวล์ดเอด กล่าว 

          นายสมเกียรติ สุนทรพิทักษ์กูล ผู้อำนวยการกอง กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่า และพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อช.) กล่าวว่ามีคนไทยจำนวนหนึ่งอาจเชื่อว่า เครื่องรางของขลังที่ทำมาจากงาช้างบ้าน ไม่ได้ทำลายชีวิตช้าง แต่จากการประเมินของ USAID Wildlife Asia งาจากจำนวนช้างบ้านที่มีอยู่ ไม่เพียงพอกับปริมาณความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นช่องโหว่ให้กับการลักลอบนำเข้างาช้างจากประเทศอื่น โดยการประเมินดังกล่าวอ้างอิงมาจากรายงานการสำรวจตลาดค้างาช้างของ TRAFFIC ที่จัดทำในปี พ.ศ. 2557 ในประเทศไทย ซึ่งพบว่า มีช้างบ้านเพศผู้ราว 1,230 ตัว คิดเป็นปริมาณงาช้างที่ผลิตได้ประมาณ 650 กิโลกรัมต่อปีเท่านั้น ตราบใดที่ยังมีความต้องการเครื่องรางของขลังจากผลิตภัณฑ์สัตว์ป่า ประชากรช้างและเสือโคร่งในป่าก็จะยังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกล่า

          “ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะเฝ้าระวังการค้างาช้างผิดกฎหมายต่อไป แม้ไทยไม่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างผิดกฎหมายแล้ว และจะดำเนินมาตรการเสือในกรงเลี้ยงอย่างรัดกุม เพื่อป้องกันการค้าเสือและผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย ตามที่ได้รายงานต่อที่ประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส ครั้งที่ 18 เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กรมอุทยานฯ เชื่อว่า การแก้ปัญหาการค้าสัตว์ป่าผิดฎหมายที่ได้ผล ต้องเกิดจากการบังคับใช้กฎหมาย ควบคู่ไปกับการลดความต้องการของผู้บริโภค ความร่วมมือระหว่างองค์กรไวล์ดเอด โครงการยูเอสเอด ไวล์ดไลฟ เอเชีย และกรมอุทยานฯ เป็นการแสดงความมุ่งมั่นที่จะปกป้องประชากรช้างและเสือของโลกอย่างต่อเนื่อง”  ผู้อำนวยการกอง กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่า และพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าว 

          นายปีเตอร์ เอ. มัลนัค ผู้อำนวยการองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา สำนักงานภาคพื้นเอเชีย กล่าวว่า  “เราหวังว่า การได้รับความร่วมมือจากบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคิดในสังคมไทย จะทำให้โครงการรณรงค์ ‘ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า’ สามารถลดทอนความเชื่อที่มีต่อผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า อย่างเสือโคร่งและงาช้าง ในกลุ่มผู้ใช้และผู้มีความต้องการซื้อ และทำให้การใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่เป็นที่ยอมรับเหมือนในอดีต”   วิดีโอรณรงค์  “ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า” เริ่มเผยแพร่แล้วทางสื่อออนไลน์ และอีกหลากหลายช่องทางเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และคนทั่วไปมากที่สุด 

                             ———————————————————

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *