การประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 21
ประเทศไทยได้รับเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 21 (21st Governing Board of the ASEAN Centre for Biodiversity: 21st GBACB) ในระหว่างวันที่ 8 – 9 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมสุโกศล เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 30 (30th ASEAN Senior Officials Meeting on the Environment : 30th ASOEN) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือ อนุมัติและเสนอแนะการทำงานของศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ธรรมชาติและความหลากหลายทาชีวภาพอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้โดย นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พาณิช รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในการประชุม ซึ่งมีประเด็นที่หารือและที่ประชุมมีมติที่สำคัญคือ 1. ให้ความเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำ (Lead country) ในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพควบคู่กับการทำการเกษตร เนื่องจากประเทศไทยมีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องหลายโครงการ เช่น การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร การจัดประชุมระดับภูมิภาคการร่วมงานกับองค์การอนามัยโลก ฯลฯ
2. ให้การรับรองอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เป็นอุทยานมรดกอาเซียน เพื่อเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 30 พิจารณาให้การรับรองต่อไป โดยพื้นที่ทั้งสองแห่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีเอกลักษณ์ทางระบบนิเวศอีกทั้งเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ เส้นทางนกอพยพ แหล่งวางไข่สัตว์น้ำ ฯลฯ เมื่อได้ขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียนแล้ว พื้นที่ได้รับการสนับสนุนทางด้านวิชาการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เจ้าหน้าที่ในพื้นที่จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์ในระดับอาเซียนและในระดับโลก ชุมชนจะได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมให้ดำรงชีวิตสอดคล้องกับการอนุรักษ์ในพื้นที่
3. แนวทางการยกร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2020 ณ เมืองคุนหมิงสาธารณรัฐประชาชนจีน แถลงการณ์ดังกล่าวมีความสำคัญ ที่จะสะท้อนปัญหาที่เป็นภัยคุกคามสำคัญต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิภาคอาเซียนและจะนำเสนอแนวทางการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพภายหลังปี ค.ศ. 2020และมุ่งหวังให้ประชาชนใช้ชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติภายในปี ค.ศ. 2050
———————————————-