กรมทรัพยากรธรณี จับมือ 12 หน่วยงาน จัดงานประชุมวิชาการ “ธรณีไทย 2564”ออนไลน์ครั้งแรก พร้อมแถลงผล ” Guinness World Recor”

กรมทรัพยากรธรณี จับมือ 12 หน่วยงาน จัดงานประชุมวิชาการ “ธรณีไทย 2564” ออนไลน์ครั้งแรก พร้อมแถลงความคืบหน้าการบันทึกสถิติโลก Guinness World Record “ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก”

วันที่ 4 สิงหาคม 2564 เวลา 10.30 น. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี โดยร่วมมือกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมชลประทาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย สภาการเหมืองแร่ สมาคมอุทกธรณีวิทยาไทย The Coordinating Committee for Geoscience Programmes In East and Southeast Asia (CCOP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จัดการประชุมวิชาการ “ธรณีไทย 2564” ภายใต้หัวข้อ “ธรณีวิถีใหม่ นวัตกรรมไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงานผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Webinar) ณ กรมทรัพยากรธรณี

          นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า “งานประชุมวิชาการ ธรณีไทย 2564 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 สิงหาคม 2564 ในรูปแบบการประชุมผ่านระบบออนไลน์ครั้งแรก เพื่อเป็นเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญ และนักธรณีวิทยาทุกสาขาได้นำเสนอองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านธรณีวิทยา รวมไปถึงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการที่สนองความต้องการของประชาชนวิถีใหม่ และสร้างความตระหนักหรือการเรียนรู้ให้แก่สังคมในการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรธรณีอย่างยั่งยืน

          ทั้งนี้โดยมีผู้เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิชาการจำนวนทั้งสิ้น 170 เรื่อง ประกอบด้วย

1. การบรรยายพิเศษ (Keynote Papers)

2. การบรรยายวิชาการโดยผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาทั้งในและต่างประเทศ

3. การนำผลงานทางวิชาการผ่านโปสเตอร์

4. การเสวนาทางวิชาการโดยผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในทุกสาขารวมถึง 4 เรื่อง

          นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการออนไลน์และโปสเตอร์นำเสนอผลงานออนไลน์ ให้ผู้เข้าร่วมประชุมรับชมในรูปแบบ Visual Exhibition ผ่าน www.dmr.go.th โดยมีบูธนิทรรศการทางวิชาการและบริหารจัดการทรัพยากรธรณี ของกรมทรัพยากรธรณี จำนวนทั้งสิ้น 9 บูธ ได้แก่ 1. โคก หนอง นา กับธรณีวิทยา 2. คณะกรรมการระดับชาติ กับการบริหารจัดการทรัพยากรธรณีของประเทศ 3. วิวัฒนาการแผนที่ธรณีวิทยาประเทศไทย 4. นวัตกรรมทางธรณีวิทยาและการแก้ปัญหาทางวิชาการ 5. ซากดึกดำบรรพ์และวาฬอำแพง 6. พิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา 7. International Years of Caves and Karst 2021 8. ที่สุดธรณีไทย 9. ความร่วมมือระหว่างประเทศ และ Thai Geoscience Journal และโปสเตอร์นำเสนอผลงานวิชาการ จำนวนทั้งสิ้น 70 ผลงาน แบ่งเป็น 7 กลุ่ม ดังนี้ 1. การบริหารจัดการธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี, 2. ธรณีวิทยาและทรัพยากรแร่,3. ธรณีวิทยาและซากดึกดำบรรพ์, 4. ธรณีฟิสิกส์และวิศวกรรม, 5. ธรณีเคมี 6. ธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย 7. ธรณีวิทยาเพื่อการอนุรักษ์และการเรียนรู้

          นายสมหมาย ยังได้เปิดเผยความคืบหน้าการบันทึกสถิติโลก Guinness World Record “ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก” ว่า “หลังจากที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณี และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกันตรวจสอบสถิติข้อมูลไม้กลายเป็นหินที่พบในบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย จังหวัดตาก มีความยาว 72.2 เมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 1.8 เมตร ซึ่งมีความยาวมากกว่าไม้กลายเป็นหินที่พบที่เมือง Qitai มณฑลซินเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ความยาว 38 เมตร ที่ถูกบันทึกไว้ในปัจจุบัน กรมทรัพยากรธรณี จึงได้ประสานงานกับ Guinness World Record ยื่นเอกสารขอบันทึกสถิติโลกใหม่ เพื่อบันทึกสถิติโลกไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก”

          สำหรับการบันทึกสถิติโลก เป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ซึ่งนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหิน และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ส่งเสริมให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก เพื่อสร้างรายได้ และต่อยอดสู่การสร้างมูลค่าตราสินค้าของชุมชนที่เชื่อมโยงกับไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก อีกทั้งเชื่อมโยงความสำคัญทางธรณีวิทยากับอุทยานธรณีและแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งแนวทางในการดำเนินการยื่นสมัครเพื่อบันทึกสถิติใหม่ในครั้งนี้ มี 5 ขั้นตอน

ทั้งนี้ประกอบด้วย  1. กรมทรัพยากรธรณีรวบรวมและจัดเตรียมข้อมูลสถิติเก่า และบันทึกข้อมูลสถิติใหม่ ได้แก่

           – ปี 2007 ได้มีการบันทึกสถิติ ลำต้นไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุด (longest fossil silicified tree trunk) มีความยาวอยู่ที่ 38 เมตร และเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 1.2 เมตร มีการเก็บรักษาในส่วนของราก ลำต้น และวงปีเป็นอย่างดี ซึ่งไม้กลายเป็นหินนี้ถูกพบที่เมืองฉีไท่ ในซินเจียง ประเทศจีน

          – ปี 2016 ไม้กลายเป็นหินที่จัดแสดงอยู่ที่สวนนิเวศโบราณที่เมืองอูรัมกิ ในซินเจียง ประเทศจีน
มีความยาว 56 เมตร

           – ปัจจุบัน ไม้กลายเป็นหิน จังหวัดตาก จากหลุมขุดค้นที่ 1 พบที่อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย (เตรียมการ) มีความยาว 72.2 เมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 1.8 เมตร ซึ่งยาวที่สุดในประเทศไทย

          นอกจากนี้ ยังพบไม้กลายเป็นจากหลุมขุดค้นที่ 2 ความยาว 31.1 เมตร หลุมขุดค้นที่ 3 ความยาว 32.4 เมตร หลุมขุดค้นที่ 4 ความยาว 44.2 เมตร หลุมขุดค้นที่ 5 ความยาว 22.2 เมตร หลุมขุดค้นที่ 6
ความยาว 34.5 เมตร และหลุมขุดค้นที่ 7 ความยาว 38.7 เมตร

           2. รอการติดต่อจาก Guinness Book World Record และประสานงานขอข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

           3. การตรวจสอบข้อมูล โดย Guinness Book World Record

           4. รับรองสถิติและมอบ Online Certification

           5. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ จัดนิทรรศการร่วมกับท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้าใจ และส่งเสริมการท่องเที่ยว

           ขณะนี้ความคืบหน้าการดำเนินงานอยู่ระหว่างการจัดส่งเอกสารรายละเอียดเพิ่มเติมให้กับ Guinness Book World Record หลังจากการสมัครขอรับการบันทึกสถิติโลกผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2564  โดย Guinness Book World Record ได้พิจารณารายละเอียดเอกสารและประกาศการรับรองการบันทึกสถิติโลก

          “ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก” และจะแจ้งผลให้ทราบช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งหลังการประกาศผลการรับรองการบันทึกสถิติโลก กรมทรัพยากรธรณีจะจัดกิจกรรมเพื่อการเปิดตัวกิจกรรมการบันทึกสถิติโลกร่วมกับจังหวัดตากและหน่วยงานที่เป็นเครือข่ายพันธมิตรในการประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการอนุรักษ์และคุ้มครองโดยการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนต่อไป”

          “การสร้างแหล่งเรียนรู้ซากดึกดำบรรพ์ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลกครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี ทั้งหน่วยงานราชการ และประชาชนในพื้นที่จังหวัดตาก ตลอดจนภาคธุรกิจเอกชนที่เข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์มรดกทางธรณีของประเทศไทย ประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ จังหวัดตาก จัดทำโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสู่แหล่งท่องเที่ยวระดับโลกและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ให้การสนับสนุนการจัดตั้งอุทยานธรณีตาก พร้อมผลักดันไม้กลายเป็นหิน จังหวัดตาก ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศและระดับโลก ตลอดจนพัฒนาแหล่งไม้กลายเป็นหิน จังหวัดตาก เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญระดับท้องถิ่นและก่อให้เกิดธุรกิจชุมชนที่ยั่งยืน   ทั้งนี้ การอนุรักษ์ คุ้มครอง และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า เป็นเรื่องที่ทุกคนควรร่วมมือร่วมใจกันทุกภาคส่วนเน้นภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของและดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นแกนกลางของการอนุรักษ์” นายสมหมาย กล่าวเพิ่มเติม

                          ————————————————————–

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *