“วช. 5G” พลิกโฉมงานวิจัย ตอบโจทย์กระทรวงใหม่ฯ “อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงบทบาทของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในระหว่างงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2562 ว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นด้วยเจตนารมณ์ให้เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนากำลังคนของประเทศ โดยบูรณาการการเรียนการสอน การวิจัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้วยการวิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนให้การวิจัยและนวัตกรรมได้ใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม วิชาการ ทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยกระทรวงใหม่นี้จะมีคณะกรรมการ 4 คณะ
ทั้งนี้ประกอบด้วย สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ, คณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ (กกอ.), คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) และคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) และกำหนดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจน ร่วมกันทำงานแบบเกื้อหนุน แก้ปัญหาความซ้ำซ้อนในการทำงาน คือ หน่วยงานด้านนโยบายและกำหนดกรอบงบประมาณด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, หน่วยให้ทุนวิจัย, หน่วยทำวิจัย, หน่วยงานด้านมาตรฐาน และหน่วยใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งต้องเชื่อมต่อกับหน่วยงานนอกกระทรวง ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมอีกด้วย
สำหรับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้รับมอบหมายเป็นหน่วยให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ รวมไปถึงภารกิจการจัดทำฐานข้อมูลและดัชนีวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ, การริเริ่ม ขับเคลื่อนและประสานการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ, การจัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย, การส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์, การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยและนวัตกรรม และการให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรม รวม 7 ภารกิจสำคัญในระดับประเทศ โดย วช. มีการหารือร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และสำนักงาน ก.พ.ร. ทำให้พร้อมปฏิบัติงานได้ทันทีและต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ ซึ่ง วช. ได้นำเสนอทิศทางใหม่ของระบบทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ดังนี้
• Multi-year funding ด้วยการจัดสรรเงินตามกรอบวงเงินจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่องจนโครงการสำเร็จได้
• Outcome- and impact- driven เพื่อให้ทุนในเชิงรุกตามประเด็นยุทธศาสตร์ให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
• Synergy & partnership เชื่อมโยงและเสริมพลังระหว่างหน่วยให้ทุน (วช., สวก., สวรส.) มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยทั้งในและนอกกระทรวง และการให้ทุนวิจัยครอบคลุมการวิจัยพื้นฐาน วิจัยประยุกต์ ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ รวมทั้ง สหสาขาวิชาการ และเชื่อมกับการพัฒนาบุคลากรวิจัยและการให้รางวัล
• Streamlined process โดยพัฒนากลไกการทำงานด้วยระบบ Online 100% 5G- funding, กลไก ODU, Program Funding และ Matching Fund และ Monitoring and Evaluation โดยผู้ใช้ผลการวิจัย และในขณะเดียวกัน วช. ได้เตรียมความพร้อมและยกระดับการทำงานตามภารกิจใหม่โดยแนวทาง “วช. 5G” ประกอบด้วย Speed ทำงานได้รวดเร็วขึ้น Start เริ่มทำงานได้ทันที ตอบสนองฉับพลัน Scope ขยายขอบข่ายการทำงานในระดับชาติ และนานาชาติ Connectivity เชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ Low Energy ทำงานคุ้มค่า ใช้ต้นทุนต่ำ ได้ผลผลิตสูง Smooth ลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น และทำงานโดยไม่มีข้อจำกัด และ New Features คิดริเริ่มงานใหม่ และได้เปิดตัวเว็บไซต์ www.nrct.go.th และ www.facebook.com/nrctofficial เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาคมวิจัยได้ใช้เป็นช่องทางสื่อสาร แสดงความคิดเห็นและความพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมต่อไป
——————————————