“ไม่เอางา ไม่ฆ่าช้าง”

ใหม่ ดาวิกา ร้องเพลงช้าง ชวนคนไทย #ไม่เอางาไม่ฆ่าช้าง กับองค์กรไวล์ดเอด และกรมอุทยานฯ

องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) เปิดตัวคุณใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ นักแสดงชื่อดัง เป็นทูตด้านช้างคนล่าสุดขององค์กร พร้อมโฆษณารณรงค์ที่มีคุณดาวิกานำแสดง และร่วมร้องเพลงช้าง เพลงที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี เพื่อชวนทุกคนหยุดซื้อ หยุดใช้ และหยุดรับผลิตภัณฑ์งาช้าง ภายใต้โครงการรณรงค์ #ไม่เอางาไม่ฆ่าช้าง โดยมีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สนับสนุนงานรณรงค์ลดความต้องการผลิตภัณฑ์งาช้าง ร่วมกับองค์กรไวล์ดเอด

          “ช้าง เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญและเป็นที่รักของคนไทยมาโดยตลอด ทุกๆ คนรวมทั้งใหม่ เติบโตมากับเพลงช้าง ใหม่ว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ความต้องการซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์งาช้างทุกวันนี้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรช้างโลกโดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาลดลงอย่างต่อเนื่อง” คุณดาวิกา กล่าว

ทุกปี มีช้างมากถึง 33,000 ตัวถูกฆ่าเพื่อเอางา แม้แนวโน้มการฆ่าช้างแอฟริกันจะลดลงจากจุดสูงสุด เมื่อปี พ.ศ.2554  แต่จำนวนช้างที่ถูกฆ่ายังอยู่ในระดับสูงเมื่อดูภาพรวมทั้งทวีป และประชากรช้างแอฟริกา ยังคงมีแนวโน้มลดลงเมื่อดูจากจำนวนในปี พ.ศ.2559

ขณะที่ผลการวิจัยผู้บริโภคผลิตภัณฑ์งาช้างของโครงการยูเอสเอด ไวล์ดไลฟ เอเชีย ซึ่งเปิดเผยเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ระบุว่า ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งซื้อผลิตภัณฑ์งาช้างเพื่อเป็นของขวัญ ในวาระต่างๆ และผลิตภัณฑ์งาช้างที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ เครื่องประดับ และอัญมณี ผู้โดยหญิงเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักที่ซื้อผลิตภัณฑ์ประเภทดังกล่าวเพราะเชื่อว่าสวยงาม แต่จริงๆแล้ว งาควรเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตช้างเท่านั้น

“ใหม่อยากให้ทุกคนมองความสวยงามของงาช้างเสียใหม่ ว่างาจะสวยเมื่ออยู่กับช้าง งาช้างไม่ใช่เครื่องประดับเพื่อแสดงถึงความงามหรือแฟชั่นอีกต่อไป”  คุณดาวิกากล่าวเสริม

โฆษณารณรงค์ชิ้นล่าสุดขององค์กรไวล์ดเอดดำเนินเรื่องด้วย ‘เพลงช้าง’ เพลงที่คนไทยรู้จักกันอย่างดี โดยในเรื่องมีคุณดาวิกาพาเด็กๆ เดินหาช้าง แต่แล้วเสียงร้องอันสดใสของเด็กๆ ก็ได้เปลี่ยนเป็นเสียงของความโหดร้ายของนายพราน ที่ต้องการฆ่าช้างเพื่อเอางา ปิดท้ายที่คุณดาวิกาพูดว่า “งาจะสวยเมื่ออยู่กับช้าง”

ช้าง เป็นสัตว์ประจำชาติของไทย การอนุรักษ์และปกป้องช้าง จึงถือเป็นความภาคภูมิใจ และเป็นสิ่งที่ ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการหลายอย่าง เพื่อคุ้มครองช้างและแก้ปัญหา การค้างาช้างผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2558 ไทยออกพระราชบัญญัติงาช้าง เพื่อควบคุมตลาดค้างาช้างถูกกฎหมาย ที่มาจากช้างบ้านของไทยที่เป็นช้างเอเชียเท่านั้น และรัฐบาลยังได้แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 กำหนดให้ช้างแอฟริากันเป็น 1 ในสัตว์คุ้มครองของไทยมีผลห้ามการซื้อขายหรือครอบครอง งาช้างแอฟริกัน และตั้งแต่พระราชบัญญัติงาช้างมีผลบังคับใช้ จนถึงปัจจุบัน มีร้านค้างาช้างจำนวน 100 ร้าน (47%) จาก 215ร้าน ได้แจ้งยกเลิกการค้างาช้างด้วยความสมัครใจ และการซื้อขายงาช้างถูกกฎหมายที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ก็ลดลงไปร้อยละ 58 เปรียบเทียบกับกลางปี 2559

“ประเทศไทยมุ่งมั่นในการปราบปรามการค้างาช้างผิดกฎหมายมาโดยตลอด เราเชื่อว่าการบังคับใช้กฎหมาย และการลดความต้องการผลิตภัณฑ์งาช้างจำเป็นต้องดำเนินการ ควบคู่กันไป เพื่อให้การปราบปรามได้ผลมากที่สุด เราหวังว่าความร่วมมือกับองค์กรไวล์ดเอดเพื่อลดความต้องการผลิตภัณฑ์งาช้าง ผ่านโครงการรณรงค์ ไม่เอางาไม่ฆ่าช้าง จะเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ และความมุ่งมั่นของไทยที่จะป้กป้องช้างไทย และขยายผลไปถึงการปกป้องช้างโลกต่อไป” นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าว

โฆษณา ‘เพลงช้าง’ ถือเป็นสื่อรณรงค์ภายใต้โครงการ ‘ไอวอรี่ ฟรี’ (Ivory Free) ขององค์กรไวล์ดเอด ที่ได้ดำเนินโครงการรณรงค์เพื่อลดความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์งาช้างมาตั้งแต่ปี 2547 ทั้งในสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง และเริ่มกิจกรรมรณรงค์ในไทยตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา

“บทบาทใหม่ของคุณดาวิกาในฐานะทูตด้านช้าง ถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง  เพราะยิ่งคนไทยรับรู้ถึงผลกระทบ ที่เกิดจากการซื้อการใช้ผลิตภัณฑ์งาช้างมากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะไม่อยากเกี่ยวข้องกับเบื้องหลังการค้า อันโหดร้ายมากเท่านั้น การได้รับการสนับสนุนจากคุณดาวิกา หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงพันธมิตรสื่อมวลชน เป็นสิ่งสําคัญอย่างมาก เพื่อที่จะทำให้การ #ไม่เอางาไม่ฆ่าช้าง เป็นวิถีใหม่ของคนในสังคม ร่วมกันเปลี่ยนมุมมองที่มีต่องาช้างและปกป้องช้างโลกไปด้วยกัน เพราะหยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า” นายจอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์ องค์กรไวล์ดเอด กล่าว

องค์กรไวล์ดเอดเตรียมเผยแพร่โฆษณารณรงค์ ‘เพลงช้าง’ รวมถึงสื่อประเภทบิลบอร์ดของคุณดาวิกา ไปยังสื่อหลายประเภททั้งโซเชียล มีเดีย สนามบินสุวรรณภูมิ และได้รับความร่วมมือจากสถานีโทรทัศน์ หลายช่องให้ความอนุเคราะห์เวลาออกอากาศ

นอกจากนั้น ภายในงานที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 ตุลาคม ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ยังมีนิทรรศการเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับประชากรช้างโลก พร้อมกิจกรรมสนุกๆ สำหรับทุกคนในครอบครัวจากลุ่มเนเจอร์ เพลิน (Nature Play and Learn Club) เพื่อให้ทุกคนรู้จัก เรียนรู้ และรักช้างมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

———————————————————————-

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *