บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย จัดการสาธิตเสมือนจริง “LIVE – Cell Broadcast Service” และสร้างความเชื่อมั่นในการเตรียมพร้อมให้บริการแก่คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร และให้การต้อนรับนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล รองประธานคณะกรรมาธิการฯ พร้อมคณะอนุกรรมาธิการ เข้าเยี่ยมชมและร่วมทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่จะเปิดให้บริการในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และนำชมศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ Business and Network Intelligence Center (BNIC) ที่ใช้บริหารจัดการเมื่อเกิดภัยพิบัติ
นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ทรู คอร์ปอเรชั่นได้แสดงความพร้อมอีกขั้นในการเตรียมระบบ Cell Broadcast Service (CBS) เพื่อเปิดให้บริการในไทย และเปิดสาธิตเสมือนจริงแก่คณะกรรมาธิการการสื่อสารฯ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อสร้างความมั่นใจในมาตรฐานของ CBS ที่เราพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายให้ใช้งานได้ในไทย โดยระบบนี้สามารถแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินประสิทธิภาพสูงตามมาตรฐานสากล ส่งข้อความเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการทุกเครื่องในพื้นที่เสี่ยงภัยได้พร้อมกันทันที ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนล่วงหน้า
ทั้งนี้โดยทรูได้พัฒนาระบบให้มีจุดเด่นสำคัญ คือ รองรับการแสดงผลได้ถึง 5 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย หรืออื่นๆ นอกจากนี้ยังมีทั้งการแจ้งเตือนด้วยสัญญาณเสียงและข้อความแบบ Pop up บนหน้าจอ พร้อมฟีเจอร์ Text to Speech ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้บกพร่องทางการมองเห็น ซึ่งจะช่วยให้การแจ้งเตือนภัยครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง”
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล รองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า “คณะกรรมาธิการการสื่อสารฯ ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี Cell Broadcast เป็นอย่างมาก เนื่องจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์กราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าหรือภัยพิบัติน้ำท่วม ล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การมีระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดความสูญเสียได้อย่างมาก ซึ่งประเทศไทยได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของหลายประเทศที่ใช้ระบบนี้อยู่แล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ อินเดีย และมาเลเซีย โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปีหน้า”
สำหรับระบบ CBS ที่ทรู คอร์ปอเรชั่นพัฒนาขึ้นมีจุดเด่นสำคัญ 5 ประการ ได้แก่
▪️รองรับทุกภาษา – สามารถออกแบบการแจ้งเตือนได้ทุกภาษาและส่งพร้อมกันได้ทันที
▪️รวดเร็ว – สามารถส่งข้อความเตือนภัยได้ทันทีที่เกิดเหตุ
▪️แม่นยำ – สามารถกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการส่งข้อความได้อย่างแม่นยำ
▪️ครอบคลุม – ส่งข้อความถึงผู้ใช้บริการทุกคนในพื้นที่เสี่ยงภัยโดยไม่ต้องลงทะเบียน
▪️มั่นใจ – เป็นระบบที่ได้รับการยอมรับและใช้งานในหลายประเทศทั่วโลก
ส่วนการพัฒนาระบบ CBS เป็นความร่วมมือระหว่างทรู คอร์ปอเรชั่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และกรมอุตุนิยมวิทยา โดยมีศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ BNIC (BNIC) พร้อมปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการกรณีเกิดภัยพิบัติตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่นยังได้นำคณะกรรมาธิการการสื่อสารฯ ชมศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ Business and Network Intelligence Center (BNIC) ที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยศูนย์นี้ใช้เป็นห้อง War room ในการบริหารจัดการเมื่อเกิดภัยพิบัติ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าทรูและดีแทค ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบ CBS ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สำหับการจัดทดสอบเสมือนจริงครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญอีกครั้งในการยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยและการเตือนภัยของประเทศไทย ที่จะช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวไทยและนักท่องเที่ยวได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้ในปี 2568
บรรยายภาพ (หมายเลข 1) – นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล (กลาง) รองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยคณะอนุกรรมาธิการ ร่วมทดสอบระบบเตือนภัยฉุกเฉิน Cell Broadcast Service ที่จะเปิดให้บริการในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่ทรู ทาวเวอร์ โดยมีนายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ (ขวา) หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร และ นายประเทศ ตันกุรานันท์ (ซ้าย) หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมแนะนำในการทดสอบเสมือนจริง และนำชมศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ Business and Network Intelligence Center (BNIC) ที่ใช้บริหารจัดการเมื่อเกิดภัยพิบัติ
—————————————————