“5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” พร้อมลุยงบ ปี 65 ได้รับจัดสรร 110,902 ล้านบาท เกษตรฯ เคลื่อนทัพหนุนยุทธศาสตร์ชาติ พัฒนาภาคเกษตรไทย

          นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (15 ต.ค.) ว่า ตามนโยบาย “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย”  ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งกระตุ้นการสร้างเศรษฐกิจรากฐานให้กับประเทศ กระทรวงเกษตรฯ จึงได้ดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ โดยมุ่งเน้นภาพรวมในด้านต่าง ๆ ตลอดจนมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรม จึงจำเป็นต้องมีกลยุทธ์และยุทธศาสตร์บริหารการพัฒนาที่ชัดเจนสามารถปฏิบัติได้ จึงได้วางแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรม 5 ยุทธศาสตร์ และ15 นโยบายหลัก เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารสู่เป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต 2. ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 3. ยุทธศาสตร์ “3’s” (Safety-Security-Sustainability- เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคงและเกษตรยั่งยืน) 4. ยุทธศาสตร์การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะโมเดล “เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย” และ 5. ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน เร่งดำเนินโครงการตามแผนงานในปีงบประมาณ 2565 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไวที่สุดในช่วงภาวะวิกฤตโควิด

          “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยทุกหน่วยงานในสังกัด พร้อมที่จะขับเคลื่อนแผนงานและโครงการต่างๆ ที่สำคัญในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ได้รับการพัฒนาศักยภาพให้มีความเข้มแข็งนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการด้านเกษตร เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรและสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างมั่นคง และยั่งยืน” ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

          ด้านนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณ 2565 ว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564  ซึ่งมีผลใช้บังคับ 1 ตุลาคม 2564 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2565 จำนวน 110,902.5681 ล้านบาท ลดลงจากปี 2564 จำนวน 929.9490 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 0.83) จำแนกเป็น 4 กลุ่ม

          ทั้งนี้ประกอบด้วย 1) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ จำนวน 24,572.0510 ล้านบาท 2) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายของกระทรวง/หน่วยงาน (Function)  จำนวน 34,752.9903 ล้านบาท 3) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) จำนวน 50,612.5268 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวข้อง 5 แผนบูรณาการ อาทิ แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 579.0475 ล้านบาท  แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จำนวน 49,912.4173 ล้านบาท แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 107.7242 ล้านบาท และ 4) กลุ่มงบประมาณสำหรับทุนหมุนเวียน จำนวน 965.0000 ล้านบาท

          สำหรับการขับเคลื่อนงบประมาณปี 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี รวมทั้งแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) นโยบายสำคัญของรัฐบาล และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง นโยบายและแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใน 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1) ด้านความมั่นคง วงเงิน 257.5683 ล้านบาท ดำเนินการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านการประมง ป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) และพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

           2) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน วงเงิน 28,529.9676 ล้านบาท ดำเนินการในเรื่องเกษตรอัตลักษณ์ พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูป เกษตรอัจฉริยะ และส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร เพื่อเสริมสร้างให้การพัฒนาภาคเกษตรมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

          3) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาค ทางสังคม วงเงิน 2,046.9633 ล้านบาท ดำเนินการในเรื่องส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการหลวง ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ และบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส 

4) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วงเงิน 80,058.0689 ล้านบาท ดำเนินการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการชลประทาน การป้องกันระดับน้ำเค็ม การปฏิบัติการฝนหลวง จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การบริหารจัดการพื้นที่ชลประทานเดิม และการลดการเผา ในพื้นที่เกษตร

 และ 5) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ วงเงิน 10.0000 ล้านบาท ดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตรให้สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวง เพื่อนำมาวิเคราะห์ประกอบการวางแผนด้านการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                         ———————————————

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *