3 ทศวรรษ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) เปิดเวที “30 ปี TEI ก้าวไปกับภาคี สู่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน”

วันนี้ (30 สิงหาคม 2566) ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ จัดงาน “30 ปี TEI ก้าวไปกับภาคี สู่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี TEI ในฐานะที่เป็นหน่วยงานคลังสมอง (Think Tanks) ด้านสิ่งแวดล้อม และมีบทบาทสำคัญในการยกระดับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอันครอบคลุมทุกมิติ ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคตามมาตรฐานสากลที่ยึดมั่นในความเป็นกลาง โดยการจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และทิศทาง โอกาส บทบาทในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ ในระดับเชิงนโยบายและการปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ การพัฒนาและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล อันจะเป็นรากฐานสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

ภายในงานมีการนำเสนอสรุปผลงานของ TEI ที่ได้ดำเนินการมากว่า 30 ปี แสดงผ่านบอร์ดนิทรรศการภายใต้หัวข้อ “30 ดี 30 ปี TEI” ถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของ TEI บนเส้นทางการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศทั้งในระดับเชิงนโยบายและการปฏิบัติในพื้นที่ รวมถึงการผนึกกำลังกับทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ในช่วงการบรรยายพิเศษเปิดมุมมอง “วิกฤตสิ่งแวดล้อม: วาระของประเทศและพันธมิตร” ได้เกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ Ms. Gita Sabharwal, United Nations Resident Coordinator, Thailand ได้นำข้อมูลสถานการณ์วิกฤตสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับโลกที่ได้ส่งผลกระทบในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมหาทางออกให้พ้นจากวิกฤตอันเป็นแรงขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการและการปฏิบัติงานในเชิงพื้นที่

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้กล่าวว่าในงานได้มี พิธีแสดงความมุ่งมั่น “30 ปี TEI ก้าวไปกับภาคี สู่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” โดย องค์กรภาคีเครือข่ายที่ได้ร่วมสนับสนุนการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับ TEI และการจัดพิธีมอบ “รางวัลอนุสรณ์ ดร.ธีระ พันธุมวณิช” เพื่อเป็นทุนสนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชนดีเด่นด้านสิ่งแวดล้อม จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ จังหวัดนนทบุรี มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) จังหวัดเชียงใหม่ และ สมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน จังหวัดหนองคาย และ การมอบโล่ฉลากเขียว ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้การรับรองฉลากเขียวมากกว่า 20 ปี จำนวน 8 องค์กร ได้แก่ บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท ริโก้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท สยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด บริษัท โจตันไทย จำกัด บริษัท เครโดอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท อั๊คโซ่ โนเบล เพ้นท์ส (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมเสวนาภาคี “รัฐ-เอกชน-ประชาสังคม” สู่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน นำโดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกับ คุณปัณวรรธน์ นิลกิจศรานนท์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายวิศวกรรมโครงสร้าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด คุณวราภรณ์ หิรัญวัฒน์ศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมอาวุโส ธนาคารโลก คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ องค์กรพัฒนาเอกชนดีเด่นด้านสิ่งแวดล้อม และ คุณอเล็กซ์ เรนเดลล์ ดารานักแสดงและทูตสันถวไมตรีด้านสิ่งแวดล้อมคนแรกของไทย

นอกจากนี้ TEI ได้มีการจัดกิจกรรมเจาะลึกในหลากหลายประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญมาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอันครอบคลุมทุกมิติ อันจะเป็นรากฐานสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนภายใน 4 ห้องสัมมนาย่อย ประกอบด้วย

ห้องย่อยที่ 1 ในหัวข้อ “ความท้าทายธุรกิจไทยไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน” โดย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้ร่วมกับ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) เปิดเวทียกระดับมาตรฐานขององค์กรธุรกิจไทยไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึง บทบาทขององค์กรภาคธุรกิจไทยในการร่วมแก้ไขปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม (Country Issue) และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ และการยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business) อันเป็นการยกระดับประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองนโยบายของประเทศไทยที่มุ่งสู่ Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 และ Net Zero GHG Emission ในปี ค.ศ. 2065 ที่จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและได้รับการยอมรับจากสากล

ห้องย่อยที่ 2 ในหัวข้อ “สานพลังสังคม จัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติ สู่ความยั่งยืน” ซึ่งเป็น 1 ประเด็นการผนึกความร่วมมือและเปิดเวทียกระดับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในด้านทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลองค์ความรู้การจัดการฐานทรัพยากรให้กับภาคีความร่วมมือ ด้วยปี 2566 เอลนีโญ่ ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของคนไทยและคนทั่วโลก การนำเสนอข้อมูลวิชาการและสถานการณ์ เอลนีโญ่ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติจากรณีตัวอย่าง การจัดการลุ่มน้ำ การจัดการพรุ การจัดการระบบนิเวศเกษตร และการจัดการท่องเที่ยว เป็นต้น เสริมสร้างความตระหนัก การตั้งรับ และการปรับตัวให้เท่าทันวิกฤติความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดภัยแล้งในอนาคต โดยทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมบริหารจัดการร่วมกันและเกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป

ห้องย่อยที่ 3 ในหัวข้อ “ฉลากสิ่งแวดล้อมกับการส่งเสริมธุรกิจเพื่อการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน” ทางรอดที่ไม่ใช่ทางเลือกสำหรับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ทำให้ต้องมีวิถีปฏิบัติในการซื้อสินค้าและเลือกใช้บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสินค้าและบริการเหล่านั้นจะต้องมีฉลากสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการบ่งชี้ว่ามีสินค้าหรือบริการเหล่านั้น มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าหรือบริการประเภทเดียวกัน นอกเหนือจากนั้นการมีฉลากสิ่งแวดล้อมยังเป็นการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มโอกาสทางการค้า เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการเงิน ภาควิชาการ และภาคประชาชน เพื่อทำให้เกิดการส่งเสริมธุรกิจเพื่อการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน ยกระดับการปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นทางรอดของโลกนี้ที่มีเพียงใบเดียว

ห้องย่อยที่ 4 ในหัวข้อ “พลัง Youth…หยุดโลกร้อน” ด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน กำลังอยู่ในความสนใจของสังคมโลกและคนไทยเริ่มรู้สึกได้ถึงผลกระทบในชีวิตประจำวัน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยจึงได้รวบรวมประเด็นการทำงานด้านภาวะโลกร้อนร่วมกับกลุ่มเยาวชน นำมาจัดกิจกรรมเวทีย่อยก่อนงานวันนี้แล้ว จำนวน 2 ครั้ง ในหัวข้อ “คนพันธุ์ใหม่คิดอย่างไรกับปัญหาโลกร้อนจาก Single Use Plastic” และ “คนพันธุ์ใหม่จะอยู่อย่างไร เมื่อโลกร้อน” ในรูปแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม ZOOM ซึ่งมีเยาวชนเข้าร่วมอบรมและเล่นเกมเสริมสร้างความรู้-ความเข้าใจ รวมถึงการเสนอไอเดียในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมกว่า 200 คน ในงานวันนี้ ถือเป็นเวทีย่อยครั้งที่ 3 ในรูปแบบ Hybrid เป็นกิจกรรมร่วมกันระหว่างผู้ใหญ่ใจดีทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้แทนประชาชน มาร่วมกันส่งต่อนโยบายการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงโอกาสในการขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่จะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญให้กับโลกใบนี้ ประเด็นต่าง ๆ ที่ได้รับจากการจัดงานในวันนี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยไปผนวกรวมกับแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานของสถาบันฯ เพื่อทำงานร่วมกับภาคีต่าง ๆ เพื่อก้าวต่อไปของ TEI และภาคีเยาวชนกับนโยบาย Net Zero ของประเทศไทย ต่อไปในอนาคต

                              ———————————————————-

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *