เมื่อวันที่16สิงหาคม 2564 ที่บริเวณหาดน้ำใส หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ มีพิธีส่งมอบต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเล ระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) กับ กองทัพเรือ โดยหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ (นสร.กร.) โดยได้รับเกียรติจาก พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยป้องกันประเทศ เป็นผู้ส่งมอบต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเล ให้กับ พลเรือเอกชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ โดยมี พลเอกพอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการ สทป. พลเรือเอก สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เข้าร่วมแสดงความยินดี
พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยป้องกันประเทศ กล่าวถึง โครงการพัฒนาจัดสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเล ถือเป็นโครงการวิจัยและพัฒนายานพาหนะทางน้ำโครงการแรกของ สทป. เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สทป. กับ กองทัพเรือ เพื่อสนับสนุนภารกิจด้านความมั่นคงและการใช้งานของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ (นสร.กร.) 3 ด้าน 1.ด้านความมั่นคงทางทหาร สนับสนุนภารกิจหลักสูตรต่างๆ ของ นสร.กร. เช่น นักทำลายใต้น้ำจู่โจม, ปฏิบัติงานใต้น้ำ และลาดตระเวน การขนส่งในพื้นที่ที่เรือใหญ่เข้าไม่ถึง (เข้าเกยหาด) 2.ด้านความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ การสนับสนุนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในนามของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย (อพ.สธ.) เช่น การวางทุนสำหรับผูกเรือ การเป็นฐานปฏิบัติการดำน้ำ การเก็บขยะในทะเล 3.ด้านความมั่นคงทางสังคม การมีส่วนร่วมรับผิดชอบสังคมสร้างการตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและปัญหาขยะในทะเลให้แก่ประชาชน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะให้หมดไป โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการโครงการฯ 2 ปี จนแล้วเสร็จ
“สทป.วิจัยและพัฒนาสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเลในปี 2563 เป็นไปตามความต้องการใช้งานของหน่วยผู้ใช้ เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ในการพัฒนาจัดสร้างต้นแบบเรืออเนกประสงค์ฯ ตามแบบของ สทป. ให้เป็นไปตามความต้องการใช้งานของหน่วยผู้ใช้ โดยมีการควบคุมการจัดสร้างตามมาตรฐานสากล เมื่อจัดสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเลแล้วเสร็จ ได้ทำการทดสอบระบบและสมรรถนะ ดังนี้
การทดสอบนำเรือลงหน้าท่าเพื่อทำการทดสอบระบบย่อยของเรือระหว่างวันที่ 12-13 มกราคม 64 ณ บริษัท โชคนำชัย ออโตเพรสซิ่ง จ.สุพรรณบุรี
การทดสอบประเมิน Function การใช้งานระบบต่างๆ ของเรือ (Hat) และทดสอบสมรรถนะทางทะเล (Sat) ระหว่างวันที่ 19-20 มกราคม 2564 ณ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
และการส่งมอบต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเลเพื่อทดสอบภาคสนามโดยหน่วยผู้ใช้ ให้กับกองเรือยุทธการ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 ณ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งผลการทดสอบสมรรถนะได้รับผลสำเร็จด้วยดีสามารถสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานการใช้งานให้กับหน่วยผู้ใช้ในระดับที่น่าพอใจ
สทป.ได้แถลงปิดโครงการฯ ต่อสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ (สวพ.ทร.) มีมติเห็นชอบให้ปิดโครงการฯ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 64
จึงนำมาสู่การส่งมอบต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเลในวันนี้
นาวาโท ณัฐภัทร คุ้มปรีดี ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาจัดสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเล กล่าวว่า จุดเด่นและลักษณะพิเศษของเรือในโครงการนี้ คือ ผลิตจากวัสดุอะลูมิเนียมเกรดคุณภาพ ทำให้มีน้ำหนักเบาและมีความแข็งแรงสูง สามารถใช้ปฏิบัติงานได้ในระดับ Sea State3 นอกจากนี้ยังสามารถเปิดปิด Ramp หัวเรือเพื่อรับส่งรถขนาด 1.5 ตันได้และมีตระกร้าเก็บขยะที่รับน้ำหนักได้ถึง1ตัน พร้อมระบบดูดขยะ ที่ยกเข้ายกออกได้ ส่วนระบบเดินเรือและสื่อสาร ถือว่ามีประสิทธิภาพตอบโจทย์การใช้งานทั้งกลางวันกลางคืน และเครื่องยนต์ยังเป็นระบบแบบ Outboard 2 เครื่อง ขนาด 300 แรงม้า ทำความเร็วสูงสุดได้ไม่ต่ำกว่า 20 นอต ปฏิบัติงานได้ 48 ชั่วโมง และยังมีอุปกรณ์ช่วยยกหรือเครน ช่วยยกน้ำหนักได้ 1ตัน
“ทั้งหมดนี้คือความก้าวหน้าของการดูแลอนาคตทางทะเล เพื่อสร้างสำนึกรับผิดชอบ นำไปสู่ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ สร้างความมั่นคงทางสังคมอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น ยังก่อให้เกิดความคุ้มค่าด้านต่างๆ อาทิ ความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจ ช่วยลดการนำเข้า หรือการใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศที่มีต้นทุนสูง เพิ่มมูลค่าของผลงานวิจัยและพัฒนาในอนาคต อีกทั้งยังเกิดความคุ้มค่าด้านความมั่นคง ตอบสนองยุทธศาสตร์ของกระทรวงกลาโหม สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงความคุ้มค่าด้านการเมือง ก่อให้เกิดพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ บูรณาการและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือตามแผนยุทธศาสตร์ของ สทป. เกิดการพึ่งตนเองด้านการวิจัยและพัฒนา ที่สำคัญยังคุ้มค่าด้านเทคโนโลยี ที่เปิดโอกาสให้บุคลากรของหน่วยงานรัฐได้ร่วมวิจัยและพัฒนา” นาวาโท ณัฐภัทร กล่าว