ทส.เตรียมคลอดแผนบริหารจัดการแหล่งซากดึกดำบรรพ์ของประเทศฯ พร้อมเตรียมประกาศขึ้นทะเบียน 2 แหล่งซากดึกดำบรรพ์ จ.สตูล และจ.เลย
ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บ่ายวันนี้ (16 สิงหาคม 2564) เวลา 13.30 น. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) มอบหมายให้ นายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ ครั้งที่ 1/2564 ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ ผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) โดยมีกรมทรัพยากรธรณี เป็นฝ่ายเลขานุการ เพื่อรับทราบและติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงาน พร้อมเตรียมคลอดแผนบริหารจัดการแหล่งซากดึกดำบรรพ์ของประเทศไทยตามสถานะคุ้มครองตามกฎหมาย ภายใน กันยายน นี้ และเตรียมประกาศให้แหล่งซากดึกดำบรรพ์เขาน้อย จ.สตูล และ แหล่งซากดึกดำบรรพ์รอยตีนไดโนเสาร์ภูหลวง จ.เลย เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน รวมทั้งเตรียมจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา ต.ศาลา อ.เกาะคา จ.ลำปาง
นายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ ว่า ภายในเดือนกันยายน นี้ แผนบริหารจัดการแหล่งซากดึกดำบรรพ์ของประเทศไทยตามสถานะคุ้มครองตามกฎหมายจะแล้วเสร็จ ภายใต้ 5 ขั้นตอนสำคัญ คือ 1.รวบรวมรายการแหล่งซากดึกดำบรรพ์จากฐานข้อมูลกรมทรัพยากรธรณี เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนรูปแบบการบริหารจัดการแหล่งซากดึกดำบรรพ์อย่างเหมาะสม 2.จัดทำแผนงานและกรอบแนวคิดในการจัดทำแผนฯ 3.ระดมความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง 4.จัดทำแผนฯ และ 5.นำเสนอแผนฯ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาถึงการกำหนดให้แหล่งซากดึกดำบรรพ์เขาน้อย ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล และ แหล่งซากดึกดำบรรพ์รอยตีนไดโนเสาร์ภูหลวง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง บริเวณผาเตลิ่น อ.วังสะพุง จ.เลย เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน โดยแหล่งซากดึกดำบรรพ์เขาน้อย มีขนาดพื้นที่ 51-0-0 ไร่ เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์กลุ่มของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เป็นไปตามเกณฑ์การเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ใช้อ้างอิงช่วงอายุของชั้นหินได้แน่นอนและเป็นที่ยอมรับของประเทศไทยหรือระดับสากล และเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีซากดึกดำบรรพ์หลายชนิดอยู่ร่วมกันที่มีลักษณะแตกต่างที่เคยพบมาก่อน ขณะที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์รอยตีนไดโนเสาร์ภูหลวง มีขนาดพื้นที่ 1 งาน 68.18 ตารางวา พบจำนวน 15 รอย ซึ่งเป็นรอยตีนของพวกเทอโรพอด ไดโนเสาร์กินเนื้อในกลุ่มคาโนซอร์ ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของการเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ชนิดใหม่ที่ค้นพบครั้งแรกของประเทศไทยหรือของโลก