องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเปิดตัวสารคดีสั้นเปิดโปงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่หาประโยชน์จากโลมาในเม็กซิโก โดยเป็นการบันทึกภาพโดยอดีตครูฝึกโลมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเลี้ยงและฝึกโลมาที่เต็มไปด้วยวิธีที่โหดร้ายทารุณมากมาย เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับนักท่องเที่ยวจากวิดีโอดังกล่าวและข้อมูลประกอบ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกพบว่าโลมาถูกใช้งานเหมือนเป็นกระดานโต้คลื่น ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียด ถูกรายล้อมไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เสียงดังและกำลังมองหามุมถ่ายภาพเซลฟี่เพื่อลงโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ สภาพที่อยู่อาศัยก็คับแคบขาดอิสระ การว่ายวนเวียนอยู่ในสระน้ำแคบๆ เทียบไม่ได้เลยกับมหาสมุทรกว้างใหญ่ที่พวกมันควรได้เดินทางอย่างเสรี
นอกจากนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเปิดเผยด้วยว่าโลมายังต้องถูกบังคับให้การจำกัดอาหาร เพราะเป็นวิธีการฝึกอบรมให้สามารถแสดงโชว์ต่อหน้าฝูงชนและรับอาหารจากนักท่องเที่ยวได้ แม้ว่าโดยธรรมชาติแล้วโลมาจะเป็นสัตว์นักล่า แต่กลับต้องกลายแสดงโชว์เพื่อขออาหารเป็นการตอบแทนไม่ต่างจากการขอทาน
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกระบุว่าเม็กซิโกเป็นแหล่งเพาะพันธุ์โลมารายใหญ่ มีรายได้จากการโชว์โลมาสูงถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 15,000 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบัน สถานที่ท่องเที่ยวบางส่วนในเม็กซิโกเริ่มกลับมาเปิดทำการต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งหลังจากวิกฤติโควิด-19 แต่นักท่องเที่ยวน้อยคนนักที่จะรู้ว่าเบื้องหลังการโฆษณาที่สวยงามและภาพโลมาแสนน่ารักมีความโหดร้ายทารุณตลอดชีวิตของโลมาซ่อนอยู่
นิก สจ๊วต หัวหน้าฝ่ายแคมเปญโลมาระดับโลก องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า “เวลานี้เป็นโอกาสสำคัญในการปกป้องสัตว์ป่าที่ถูกใช้เพื่อความบันเทิง เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศกำลังหยุดชะงักและพยายามฟื้นตัว แต่ก่อนที่ธุรกิจจะมีโอกาสที่จะกลับเปิดตามปกติ เราอยากให้ธุรกิจเหล่านี้หยุดคิดว่า พวกเขากำลังกระตุ้นความต้องการให้สัตว์ป่าต้องถูกกักขังไปตลอดชีวิตเพื่อสร้างความบันเทิงให้นักท่องเที่ยวอย่างไร้มนุษยธรรม”
“รัฐบาลและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวสามารถกลับมาเป็นแรงผลักดันในการปกป้องสัตว์ได้ โดยยุติการกักขังที่โหดร้าย ยุติการสนับสนุนการใช้สัตว์ป่าเพื่อความบันเทิงและการค้า เพื่อทำให้สัตว์ป่ารุ่นนี้เป็นรุ่นสุดท้ายที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการสร้างความบันเทิง ทางออกนี้เป็นสิ่งที่ดีทั้งสำหรับสัตว์ มนุษย์ โลกของเรา และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเอง”
งานวิจัยขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกพบว่าปัจจุบัน ทั่วโลกมีโลมาในบ่อเลี้ยงกว่า 3,000 ตัวและเฉพาะเม็กซิโกประเทศเดียวมีโลมาในบ่อเลี้ยงประมาณ 240 ตัวในสถานที่ท่องเที่ยว 29 แห่ง เช่น Dolphinaris และ Dolphin Discovery เป็นต้น โดยกลุ่มลูกค้ารายใหญ่คือนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหราชอาณาจักร รวมถึงคนที่มากับเรือสำราญและบริษัททัวร์
โยลันดา อลานิซ ปาสินี ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์จาก Conservación de Mamíferos Marinos de Mexico (COMARINO) กล่าวถึงการทำงานเพื่อปกป้องโลมาในเม็กซิโกว่า “ปัจจุบัน เม็กซิโกมีสามกิจกรรมหลักที่สร้างความโหดร้ายกับโลมา คือ การแสดงโชว์เพื่อความบันเทิง การว่ายน้ำร่วมกับปลาโลมาซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างกำไรมหาศาล และการทำกิจกรรมบำบัดด้วยโลมา ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศและนักท่องเที่ยวที่จ่ายเงินเพื่อดูความทุกข์ทรมานของสัตว์”
“ในมุมมองของเรา ปัญหาที่น่ากังวลมานานคือการบังคับให้โลมาผสมพันธุ์ โดยที่สถานที่ท่องเที่ยวมีการขายน้ำเชื้อโลมาให้กับสถานที่อื่นๆ เพื่อจุดประสงค์ทางการค้า สะท้อนให้เห็นว่าฉากหน้าของภาพลักษณ์ที่สวยงามเป็นเรื่องหลอกลวง พวกเขาไม่ได้เพาะพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์ ไม่ได้ปล่อยสัตว์เหล่านี้สู่ธรรมชาติ หรือเพื่อโอกาสในการศึกษาเรียนรู้แต่อย่างใด พวกเขาใช้ประโยชน์จากโลมาเหล่านี้เพื่อหาเงินจากกิจกรรมความบันเทิงเท่านั้น”
นอกจากเม็กซิโกแล้ว ชะตากรรมของโลมาตามสถานที่ท่องเที่ยวอยู่ในมือของผู้ประกอบการและรัฐบาลในอีกหลายประเทศด้วย เช่น บราซิล คอสตาริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา และนอร์เวย์ ซึ่งประเทศเหล่านี้ต่างมีมาตรการที่เข้มงวดในการห้ามเลี้ยงและกักขังสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลเพื่อความบันเทิง
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกร่วมกันยุติการค้าสัตว์ป่าทั่วโลก ซึ่งรวมถึงการใช้โลมาและสัตว์ป่าอื่นๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและความบันเทิง ตลอดจนเชิญชวนบริษัทท่องเที่ยวทั่วโลกให้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสัตว์ป่า ยกเลิกการขายแพ็กเกจท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับความโหดร้ายทารุณต่อสัตว์ป่า แล้วหันมาส่งเสริมถสานที่ท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์ป่าแทน
ชมสารคดีสั้นเกี่ยวกับความโหดร้ายทารุณต่อโลมาในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ที่ https://www.facebook.com/WorldAnimalProtectionThailand/posts/3289623031086575 และร่วมลงชื่อเรียกร้องผู้นำโลกให้ยุติการค้าสัตว์ป่าทั่วโลกได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/take-action/end-global-wildlife-trade-forever