องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เผยแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดชั้นนำมีมาตรฐานสวัสดิภาพไก่ อยู่ในระดับต่ำจนน่าตกใจ

​องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้จัดทำรายงาน The Pecking Order ปี 2020 เปิดเผยผลการดำเนินการพัฒนามาตราฐานสวัสดิภาพไก่จากร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชั้นนำของโลก ได้แก่ KFC, McDonald’s และ Burger King พบว่าบริษัทเหล่านี้อยู่ในอันดับต่ำกว่ามาตรฐานมาก
รายงาน ‘The Pecking Order’ หรือ “การรายงานมาตรฐานสวัสดิภาพไก่” ภายใต้ปี 2020 ได้นำเสนอผลอันดับความโปร่งใสในการดำเนินงานธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดว่ามีการสร้างสวัสดิภาพของไก่ในทั่วโลกเป็นอย่างไร ผลจากการรายงานพบว่ามีธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดชั้นนำหลายแห่งมีการดูแลคุณภาพชีวิตไก่อยู่ในระดับต่ำจนเป็นที่น่ากังวล โดยที่ผู้บริโภคเองก็ไม่ได้รับทราบถึงปัญหาเหล่านี้ รวมถึงไม่สามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงว่าเนื้อไก่ที่บริโภคนั้นมีแหล่งที่มาเป็นอย่างไร
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรระหว่างประเทศ เผยว่า “เนื้อไก่ที่ได้ถูกนำมาเป็นอาหารเพื่อการบริโภคจากบริษัทฟาสต์ฟู้ดชั้นนำเหล่านี้มีการเลี้ยงดูจากฟาร์มไก่ที่มีสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้มาตรฐานและมีชีวิตอยู่อย่างแออัด ไก่เหล่านี้ไม่เคยได้สัมผัสกับแสงแดดจากธรรมชาติ และมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องทรมานจากโรคต่างๆ เช่น โรคผิวหนังและขาที่ไม่แข็งแรง เนื่องจากสภาพพื้นที่แออัด ทำให้เกิดการเบียดเสียดแย่งที่อยู่ด้วยกันเอง และยิ่งไปกว่านั้น บริษัทส่วนใหญ่ยังเพิกเฉยที่จะแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานในการเลือกซื้อไก่จากฟาร์มที่มีคุณภาพอีกด้วย”

สำหรับการประเมินที่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ จะมีด้วยกันสามด้าน ได้แก่
• ความมุ่งมั่น คือ มีนโยบายที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามาตรฐานสวัสดิภาพสำหรับไก่มีความสำคัญต่อบริษัทมากน้อยเพียงใด
• วัตถุประสงค์และเป้าหมาย หมายถึง กรอบการทำงานที่แสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และคำมั่นสัญญาของบริษัทที่จะปรับปรุงสวัสดิภาพไก่ รวมไปถึงระยะเวลาที่จะต้องบรรลุผล และ
• ความโปร่งใสในการรายงานผลของการปฏิบัติงาน และความจริงใจของบริษัทที่จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้เกี่ยวกับสวัสดิภาพไก่

​ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดที่ได้รับการประเมินในครั้งนี้ ได้แก่ Burger King, Domino’s Pizza Group, Domino’s Inc[1], KFC, McDonald’s, Nando’s, Pizza Hut, Starbucks และ Subway
​ผลของการจัดอันดับเผยว่า “บริษัท Domino’s Inc ธุรกิจร้านอาหารพิชซ่า ได้รับคะแนนต่ำสุด คือ 0 บ่งชี้ให้เห็นว่าบริษัทไม่ได้มีความสนใจในเรื่องสวัสดิภาพไก่เลยแม้แต่น้อย ส่วนฟาสต์ฟู้ดชื่อดังที่เป็นที่ติดหูคนไทย ได้แก่ Burger King, Pizza Hut, Domino’s Plc และ Domino’s Inc ได้ถูกจัดอันดับ “ยอดแย่” ในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
​อย่างไรก็ตาม มีบริษัททั่วโลก 160 แห่งที่ได้ร่วมลงนามการสร้างพันธะสัญญาการดูแลสวัสดิภาพไก่ (Better Chicken Commitment) และมีธุรกิจฟาสต์ฟู้ดชั้นนำ 9 บริษัทจากในรายงาน มีเพียงแค่ 2 ใน 3 แห่งเท่านั้น ที่ได้มีการลงนามในการดูแลสวัสดิภาพไก่ อย่างไรก็ตามความร่วมมือในเรื่องนี้อยู่แต่แค่ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดาและไม่กี่ประเทศในทวีปยุโรป และมีเพียง 5 บริษัทที่มีการรายงานความคืบหน้าในเรื่องมาตรการสวัสดิภาพไก่ในบางประเด็น แต่ไม่มีบริษัทไหนเลยทำการรายงานเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ที่ครอบคลุมทุกด้าน จึงเป็นการยากที่จะให้คะแนนกับมาตรการดังกล่าว
​ส่วนธุรกิจฟาสต์ฟู้ดไก่ชื่อดัง KFC แม้ว่าจะได้รับอันดับ “มีความก้าวหน้า” จากการเข้าร่วม Better Chicken Commitment แล้ว และได้เลื่อนอันดับมาอยู่อันดับที่ 3 จากของเดิมเมื่อปีที่แล้วในอันดับที่ 5 แต่ก็ยังอยู่แค่ในประเทศทวีปยุโรปเท่านั้น ส่วนทวีปอื่นๆ เช่น เอเชีย KFC ไม่ได้แสดงพันธะสัญญาใดๆ เลย

ส่วนลำดับที่ยอดแย่ ในปีนี้ มี 3 บริษัท ได้แก่ McDonald’s, Burger King และ Pizza Hut ที่ถูกปรับลำดับลงมา โดยเฉพาะ Burger King ที่ร่วงไปถึง 30% จากปีพ.ศ.2562
​ในขณะที่คะแนนด้านสวัสดิภาพสำหรับ Starbucks, Subway, Nando’s, Domino’s (PLC) และ Domino’s (Inc) ยังเหมือนเดิม มีเพียง Domino’s (Inc) ที่ยังเป็นเพียงบริษัทเดียวที่ไม่ได้รับคะแนนใด ๆ เลย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่ากังวลมากสำหรับตัวบริษัทเอง นักลงทุน และผู้บริโภค
​มิสเตอร์ Jonty Whittleton, ผู้จัดการแคมเปญนานาชาติ จากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้กล่าวว่า “ยังมีไก่อีกนับพันล้านตัวที่ยังคงไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นแสงอาทิตย์ หรือได้แสดงออกพฤติกรรมตามธรรมชาติ ในทางกลับกัน ชีวิตของไก่เหล่านี้เต็มไปด้วยความเจ็บปวด ความหวาดกลัว และความเครียด ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเหล่านี้ควรจะต้องหยุดความทรมานของไก่ที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเพียงเพื่อผลกำไรของพวกเขาเอง”
​“เราขอแสดงความยินดีกับ KFC ที่ได้มีความก้าวหน้าในการพัฒนาสวัสดิภาพไก่ใน 6 ประเทศในทวีปยุโรป แต่นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เรายังมีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก เพราะยังมีบริษัทอื่นๆ ที่ยังล้าหลังในเรื่องนี้ และบางบริษัทก็ถดถอยไปมากกว่าเดิม เช่น Burger King ซึ่งกำลังได้รับคะแนนเชิงบวกจากเบอร์เกอร์และนักเก็ตที่ปราศจากเนื้อสัตว์ แต่นวัตกรรมเหล่านี้จะต้องไม่ถูกนำมากลบเกลื่อนความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นกับไก่ด้วย”
​“ตอนนี้ผู้บริโภคได้เริ่มหันมาใส่ใจกับสวัสดิภาพสัตว์เพิ่มมากขึ้นทุกวัน และเราจะยังคงเป็นกระบอกเสียงสำหรับพวกเขา และไก่ เพื่อสร้างแรงกดดันให้บริษัทฟาสต์ฟู้ดเหล่านี้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้ได้”

​นางสาวเหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการแคมเปญด้านสวัสดิภาพไก่ จากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้ให้ความเห็นว่า “การที่ KFC ได้เริ่มยอมรับในการพัฒนาสวัสดิภาพของไก่ในประเทศฝั่งยุโรปถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ แต่เรายังคงอยากเห็นความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตไก่ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ในฐานะที่ KFC เป็น แบรนด์ไก่ทอดชั้นนำที่คนไทยชื่นชอบและอยู่กับคนไทยมากว่า 30 ปี KFC ประเทศไทย ไม่ควรนิ่งเฉย และควรมีนโยบายในการเปิดเผยข้อมูลการจัดหาวัตถุดิบที่มีมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ต่อผู้บริโภคอีกด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถรับรู้ได้ว่า ไก่ที่พวกเขากินมีแหล่งที่มาเป็นอย่างไร”

รายงาน Pecking Order ปี 2020 จากโครงการ Change for Chickens ฉบับย่อ เนื้อหาและประเด็นที่สำคัญ
​องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ทำการจัดอันดับเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ Change for Chickens โดยมีเป้าหมายในการเรียกร้องให้อุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดยุติความทารุนและความทุกข์ทรมานในการผลิตไก่เนื้อทั่วโลก โดยมีการเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนแหล่งผลิตไก่ที่มีมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ในระดับสูง แทนที่การเลี้ยงในฟาร์มระบบอุตสาหกรรมแบบเดิมๆ
​โครงการรณรงค์ Change for Chickens ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ผลักดันอุตสาหกรรมอาหารให้ออกมาให้คำมั่นสัญญาที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายในระดับโลก เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสำหรับไก่นับพันล้านตัว บริษัทจะได้รับความคาดหวังในด้านต่างๆ โดยเฉพาะ:
• การเลือกใช้สายพันธุ์ไก่ที่เติบโตช้าลง และแข็งแรง
• การสร้างหลักประกันว่าไก่จะมีพื้นที่เพียงพอที่จะแสดงออกพฤติกรรมตามธรรมชาติ และจะต้องไม่มีการใช้กรงขัง
• เปิดโอกาสให้ไก่ได้แสดงออกพฤติกรรมตามธรรมชาติ ด้วยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในที่เลี้ยง ยกตัวอย่างเช่นการมีคอนให้เกาะ และมีวัสดุให้ไก่จิกเขี่ยได้ การได้รับแสงตามธรรมชาติ รวมไปถึงการใช้วัสดุรองพื้นที่มีความเหมาะสม
• มีมาตรการที่จะรับรองได้ว่าไก่จะถูกฆ่าด้วยวิธีการที่มีมนุษยธรรม หลีกเลี่ยงการแขวนราวทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ และไก่ทั้งหมดจะต้องถูกทำให้สลบก่อนเข้าสู่กระบวนการฆ่า

​ปัจจุบันนี้ เป็นที่ประมาณการกันว่า ในแต่ละปีจะมีไก่ราว 4 หมื่นล้านตัวที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความทรมานในฟาร์มเลี้ยงไก่แบบระบบอุตสาหกรรม ไก่จะมีชีวิตอยู่เพียงประมาณ 40 วันก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการ และจะต้องอยู่ในโรงเรือนที่แออัด มืด แสงแดดธรรมชาติเข้าไม่ถึง รวมถึงมีสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ พวกมันถูกเลี้ยงมาโดยที่ไม่คำนึงถึงการเป็นสิ่งมีชีวิตที่หายใจได้ มีความอยากรู้อยากเห็น และมักจะถูกคัดเลือกสายพันธุ์ให้มีการเติบโตอย่างผิดธรรมชาติ ซึ่งส่งผลเสียต่อการทำงานของหัวใจ ปอด และขา ไก่เหล่านี้จึงใช้เวลาตลอดทั้งชีวิตอยู่ด้วยความเจ็บปวด ทรมานจากโรคผิวหนัง หรือแม้แต่เกิดอาการหัวใจวายได้
​บริษัทผู้ผลิตอาหารเลือกที่จะปิดหูปิดตาจากความโหดร้ายเหล่านี้ ดังนั้น องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จึงมีการจัดทำการประเมิน ‘The pecking order’ เป็นประจำทุกปี เพื่อเฝ้าติดตามความคืบหน้าของแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่ของโลก เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดอันดับครั้งต่อไปในอนาคต เราจะได้เห็นบริษัทที่มีบทบาทเป็นผู้นำในการพัฒนาเพื่อสวัสดิภาพสำหรับไก่ในระดับที่ดียิ่งขึ้นไป

สรุปผลการรายงาน Pecking Order 2020
​จากรายงาน Pecking Order 2020 เรามีทั้งเรื่องน่ายินดีและน่าเป็นห่วงในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ KFC ได้เลื่อนขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 3 (Tier 3) จากลำดับที่ 5 (Tier 5) สืบเนื่องมาจากการตระหนักรู้เรื่องสวัสดิภาพสัตว์ของบริษัทฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ ใน 6 ประเทศทั่วทวีปยุโรปที่เพิ่มสูง
​อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ มี 3 บริษัท ได้แก่ McDonald’s, Burger King และ Pizza Hut ที่ถูกปรับลำดับลงมา โดยเฉพาะ Burger King ที่ร่วงไปถึง 30% จากปี พ.ศ.2562
​ในขณะที่คะแนนด้านสวัสดิภาพสำหรับ Starbucks, Subway, Nando’s, Domino’s (PLC) และ Domino’s (Inc) ยังเหมือนเดิม มีเพียง Domino’s (Inc ที่ยังเป็นเพียงบริษัทเดียวที่ไม่ได้รับคะแนนใด ๆ เลย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่ากังวลมากสำหรับตัวบริษัทเอง นักลงทุน และผู้บริโภค

[1] Domino’s Pizza Group เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ Domino’s Pizza ภาคพื้นยุโรป และดำเนินธุรกิจในสหราชอาณาจักร ในขณะที่ Domino’s Inc ดำเนินธุรกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา

#

Notes to editors
เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
​องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection เดิมเป็นที่รู้จักกันในนาม World Society for the Protection of Animals) ได้เป็นแรงขับเคลื่อนให้โลกของเราหันมาปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกมุ่งมั่นที่จะทำให้สัตว์ทั้งหลายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กิจกรรมของเรารวมไปถึงการทำงานร่วมกับบริษัทต่างๆ เพื่อสร้างหลักประกันด้านสวัสดิภาพสัตว์ในระดับสูงสำหรับสัตว์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของพวกเขา เราร่วมงานกับรัฐบาล และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการค้า ถูกดักจับ หรือแม้แต่ถูกฆ่าอย่างโหดร้าย เราได้ช่วยปกป้องชีวิตของสัตว์ รวมไปถึงคุณภาพชีวิตของผู้คนซึ่งต้องพึ่งพิงสัตว์เหล่านั้นในการดำรงชีวิตในยามที่เกิดภัยธรรมชาติ
​องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้โน้มน้าวผู้มีอำนาจตัดสินใจ ให้รวมสัตว์ต่างๆ เข้าเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดนโยบายของโลก และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนออกมาปกป้องสัตว์ และเปลี่ยนแปลงชีวิตสัตว์ไปในทางที่ดีขึ้น ข้อมูลขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่: www.worldanimalprotection.org
ร่วมลงชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการ https://www.worldanimalprotection.or.th/change-for-chickens
อ่านรายงานเพิ่มเติม https://www.worldanimalprotection.or.th/pecking-order-2020

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *