สศอ. เร่งพัฒนาระบบข้อมูลเชิงลึกบรรจุภัณฑ์
ยืนยันน่าเชื่อถือ ใช้ง่ายทันสมัยครบวงจรที่สุด
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาระบบข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ หรือ Packaging Intellingence Unit ปี 2561 เป็นฐานข้อมูลที่ได้รับการพัฒนาให้มีความน่าเชื่อถือ เข้าถึงง่าย ทันสมัย และครบวงจรที่สุดแห่งแรกของประเทศไทย โดยอัพเดทข้อมูล ข่าวสาร รายงานสถานการณ์และการวิเคราะห์ที่เป็นปัจจุบัน และเพิ่มเติมฐานข้อมูลใหม่ๆ ทั้งฐานข้อมูลรายชื่อผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ฐานข้อมูลหนังสือที่น่าสนใจ พัฒนาระบบให้ทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าถึงง่าย ผ่านระบบคอมพิวเตอร์และรองรับการใช้งานบนสมาร์ทโฟนทั้งระบบ iOS และ Android
นายอิทธิชัย ปัทมสิริวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยในงานสัมมนาหัวข้อ Packaging Intelligence Seminar on “Update เทคโนโลยีและงานวิจัยสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารและผลิตผลการเกษตร” ภายใต้โครงการพัฒนาระบบข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ หรือ Packaging Intelligence Unit เพื่อเป็นการยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ว่าต้องยอมรับว่าการก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 สร้างแรงกระเพื่อมและสร้างแรงสั่นสะเทือน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็เป็นทั้งโอกาสและวิกฤตที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องพัฒนาตัวเอง ให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการที่ปรับตัวไม่ทัน โอกาสในการเดินต่อในยุคที่กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 อาจสะดุดหรือจบลง
ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง และความต้องการของผู้บริโภค สศอ. จึงได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์อุตสาหกรรม หรือ Intelligence Unit เพื่อเป็นระบบข้อมูลเชิงลึกสำหรับอุตสาหกรรมสำคัญต่าง ๆ อย่างครบวงจร โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกคือ ฐานข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ (Packaging Intellingence Unit) ซึ่ง สศอ. กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จับมือร่วมกับภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ จัดทำและพัฒนาระบบข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ให้เป็นแหล่งข้อมูลที่มีความทันสมัย เชื่อถือได้ และเดินหน้าพัฒนาระบบให้สามารถเข้าถึงผู้ใช้ข้อมูลได้ง่าย
สำหรับโครงการพัฒนาระบบข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ มีการดำเนินการมาเป็นปีที่ 4 แล้ว ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาฐานข้อมูล Packaging Intelligence Unit ให้มีความทันสมัยและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลกลางของ สศอ. ประกอบด้วย หมวดข้อมูลรายชื่อผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ ข้อมูลการออกแบบ ข้อมูลการผลิตจำหน่ายในประเทศ ข้อมูลการนำเข้าส่งออก ข้อมูลมาตรฐาน/ข้อตกลง/กฎระเบียบต่าง ๆ ข้อมูล Supply Chain ของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ข้อมูลความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ข้อมูลในรูปมัลติมีเดีย ข้อมูลหนังสือที่น่าสนใจ รายงานสถานการณ์และการวิเคราะห์ รายงานสภาวะอุตสาหกรรม รายงานพิเศษ รายงานการศึกษาเชิงลึก ข่าวสารต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และมีการพัฒนาระบบการแสดงผลเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านทาง packaging.oie.go.th ได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์ และจากระบบตาง ๆ บนสมาร์ทโฟนผ่านระบบ IOS และ Android เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับหน่วยงานภาครัฐได้มีข้อมูลในการวางนโยบายและกำหนดทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ภาคการศึกษามีเครื่องมือสำหรับใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนผู้ประกอบการผลิตและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องได้มีข้อมูลในการวางแผนประกอบการดำเนินธุรกิจ พัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและการค้ายุคใหม่ในภูมิภาคต่างๆ ของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
นายอิทธิชัย กล่าวต่อไปว่า การสัมมนาในครั้งนี้เป็นการนำเสนอในด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตผลการเกษตร ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกหลักที่สำคัญของประเทศ และเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การพัฒนาวัสดุ high barrier บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารแช่เย็น-แช่แข็ง บรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้กับไมโครเวฟในปัจจุบัน รวมถึงเนื้อหางานวิจัยเชิงนวัตกรรมทางการบรรจุเพื่อยืดอายุอาหาร กระบวนการและเทคโนโลยีการบรรจุในปัจจุบันที่จะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลิตผลทางการเกษตร และทิศทางการตลาดของบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตผลเกษตรของไทย เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถต่อยอดแนวคิด กำหนดแผนการผลิต และยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร และผลิตผลการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เนื่องจากอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทางเศรษฐกิจ สามารถใช้เป็นดัชนีเพื่อบ่งชี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยทางอ้อมได้ ในฐานะอุตสาหกรรมที่สนับสนุนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร ผลิตผลการเกษตรและเครื่องดื่ม ประกอบกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไทยมีความสามารถและศักยภาพในการผลิตสูง มีเทคโนโลยีที่อยู่ในระดับแนวหน้าในแทบจะทุกประเภทกระดาษ พลาสติก แก้ว และโลหะ โดยในปี 2561 คาดว่าตลาดบรรจุภัณฑ์ไทยจะมีการขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4 ถึง 5 จากการเติบโตตามแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการขยายตัวของการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีแนวโน้มดีขึ้น
ฐานข้อมูลของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ได้จากโครงการฯ จึงถือได้ว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อย่างครบวงจร น่าเชื่อถือ ทันสมัย และทันเหตุการณ์ทั้งในและต่างประเทศ ที่จะช่วยให้ภาค อุตสาหกรรมของไทยได้รับทราบข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ในด้านต่าง ๆ ที่ทันสมัยและทันท่วงที เป็นการส่งเสริม สร้างจุดแข็ง และการมีบทบาทในการเป็นผู้นำสำหรับเวทีการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้นำสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาค ทั้งนี้ สศอ. มีความเชื่อว่าการตามทันข่าวสารข้อมูลที่น่าเชื่อถือ มีความทันสมัยและรอบด้าน หรือการก้าวล้ำทางเทคโนโลยีด้านบรรจุภัณฑ์จะสามารถส่งเสริมให้การก้าวเดินสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน และการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ ๆ จากงานวิจัยสู่การประยุกต์ใช้ได้จริงจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป” นายอิทธิชัยกล่าวสรุป
———————–GEN——————————–