เปิดวิศัยทัศน์ผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 14
ประกาศสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้า
ผู้ว่าการ กฟผ. เผยแนวทางการบริหาร กฟผ. สู่อนาคตในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก หวังให้เป็นองค์กรหลัก ในการรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ด้วยการให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ต้นทาง เพื่อขับเคลื่อนภารกิจตาม PDP ให้ประสบความสำเร็จ พร้อมทั้งพัฒนานวัตกรรมและสร้างพันธมิตร ต่อยอดธุรกิจใหม่
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วม จิบน้ำชายามบ่ายกับสื่อมวลชนและพูดคุยถึงแนวทางการบริหาร กฟผ. หลังขึ้นรับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 14 โดยมุ่งมั่นจะขับเคลื่อนให้ กฟผ. เป็นองค์กรหลักในการรักษาความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศ ด้วยการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและวิธีทำงานใหม่ๆ มาปรับใช้
อย่างไรก็ตามปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้องค์กรต่างๆ รวมถึง กฟผ. ต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง โดยในด้านสังคม กฟผ. จะปรับวิธีสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อโครงการต่างๆ ในรูปแบบใหม่ ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแล้ว โดยจะมุ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ด้วยการสื่อสารสองทางให้ความรู้สร้างความเข้าใจกับชุมชนและสังคม ให้ได้รับทราบข้อมูลโครงการทุกประเด็น ทั้งข้อดีและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเปิดเผย โปร่งใส ชุมชนสามารถซักถามแสดงความคิดเห็นได้โดยตรง ให้ใช้สิทธิชุมชนตามกฎหมายอย่างเต็มที่ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงร่วมของชุมชนที่ชัดเจนก่อนจะทำการศึกษา EIA – EHIA เชื่อว่าหากชุมชนยอมรับตั้งแต่ต้น จะทำให้ดำเนินโครงการต่างๆ ตาม PDP ได้ประสบความสำเร็จ
สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (Disruptive Technology) ทำให้พลังงานหมุนเวียนเข้ามา มีบทบาทมากขึ้น กฟผ. จะพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อให้การเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนนี้เป็นไปอย่างราบรื่น เช่น พัฒนาโครงการระบบส่งไฟฟ้ารองรับพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP ให้แล้วเสร็จตามกำหนด พัฒนาระบบส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ ให้เข้มแข็ง พัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดให้การผลิตและจ่ายพลังงานไฟฟ้ามีเสถียรภาพ พัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น รวมถึงจะนำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบผลิตและส่งไฟฟ้า และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมาใช้ รวมถึงต่อยอดนวัตกรรมเดิมที่ประสบความสำเร็จแล้วมาสร้างเป็นธุรกิจใหม่ๆ ควบคู่กันไปด้วยให้องค์กรมีการเติบโต
ทั้งนี้ กฟผ. ไม่ได้มองเพียงมิติขององค์กรเท่านั้น แต่ยังพร้อมส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่สร้างคุณค่าให้ประเทศและสังคมโดยรวม สนับสนุนให้พนักงาน กฟผ. รวมถึงหน่วยงานและบุคคลภายนอกทำการวิจัยพัฒนานวัตกรรมด้านอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพลังงานด้วย เพื่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้พัฒนาประเทศอย่างไม่หยุดยั้ง
ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวด้วยว่า ท่ามกลางความท้าทายในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก กฟผ. จะไม่เดินเพียงลำพัง แต่จะแสวงหาพันธมิตรในการก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้หน่วยงานต่างๆ บูรณาการการใช้ทรัพยากรให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับประเทศ โดย กฟผ. ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตไฟฟ้าและบริหารจัดการพลังงาน ได้แสวงหาพันธมิตรที่เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ มาร่วมกันสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ เช่น การบูรณาการด้านดิจิทัลและพลังงานร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) การแสวงหาโอกาสเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานร่วมกับ บมจ.ปตท. การนำโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ตลอดจนการสร้างการเติบโตผ่านบริษัทในกลุ่ม กฟผ. เป็นต้น
“กฟผ. พร้อมนำนวัตกรรมและวิธีการดำเนินงานใหม่ๆ มาใช้พัฒนาองค์กรในทุกด้าน เพื่อให้ กฟผ. เป็นองค์กรหลักในการสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศ ให้ประเทศชาติพัฒนาและประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมตามวิสัยทัศน์ของ กฟผ. คือ นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าเพื่อชีวิตที่ดีกว่า Innovate Power Solutions for a Better Life” ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวในที่สุด
————————————