โลกเปลี่ยนเราต้องปรับ OKMD ร่วมกับ เครือข่ายจัดการความรู้ประเทศไทยจัดสัมมนา “การจัดการความรู้ยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์: ก้าวสู่อนาคต” 18 ต.ค. นี้ ที่ TK Park ผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานฟรี

เครือข่ายการจัดการความรู้ประเทศไทย (Thailand Knowledge Management Network – TKMN) โดยสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD สถาบันเพื่อการจัดการความรู้และนวัตกรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (IKI-SEA), ทริส คอร์ปอเรชั่น (TRIS) และสถาบันคลังสมองของชาติ (KNIT) แถลงข่าวเตรียมจัดงานสัมมนา “การจัดการความรู้ยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์: ก้าวสู่อนาคต” (AI-Driven Knowledge Management: Shaping the Future) โดยผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรจัดการความรู้ชั้นนำของประเทศ  ในวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2567 เวลา 10.30 – 13.00 น. ณ TK Park ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ OKMD กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลกําลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน โดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) กําลังเข้ามามีบทบาทสําคัญในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจทั่วโลก องค์กรต่างๆ กําลังเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวและใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างนวัตกรรม และรักษาความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นการเข้าใจในการจัดการความรู้ (Knowledge Management – KM) เพื่อเข้าใจแนวโน้มและการประยุกต์ใช้ AI จึงเป็นสิ่งจําเป็น รวมถึงคนที่มีความรู้ทางด้าน KM อยู่แล้ว ก็จะได้เปรียบและสามารถอัพเดทความก้าวหน้าได้เร็วกว่า และนั่นจึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดความร่วมมือในครั้งนี้

“การจัดงานในครั้งนี้เป็นความร่วมมือจาก 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ OKMD, IKI-SEA, ทริส คอร์ปอเรชั่น และสถาบันคลังสมองของชาติ เพื่อเป็นเวทีแห่งความก้าวหน้าของการจัดการความรู้ ที่รวบรวมเครือข่ายนักจัดการความรู้จากสถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ มาร่วมสร้างการรับรู้และความสนใจเรื่องการจัดการความรู้ในมิติต่างๆ ผ่านกิจกรรมการแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนกราวด์ เพื่อสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสร้างประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป”

“งานสัมมนาการจัดการความรู้ยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์: ก้าวสู่อนาคต” เป็นส่วนสำคัญของสัปดาห์การจัดการความรู้ 2567 หรือ KM Global Week 2024 ซึ่งเป็นโครงการระดับโลกที่จัดโดยเครือข่ายการจัดการความรู้ระดับโลก (Knowledge Management Global Network – KMGN) เพื่อส่งเสริมคุณค่าของแนวปฏิบัติด้านการจัดการความรู้ทั่วโลก ภายในงานจะรวบรวมผู้เชี่ยวชาญชั้นนำ ผู้นำธุรกิจ และมืออาชีพ เพื่อหารือเกี่ยวกับผลกระทบที่เปลี่ยนแปลงของ AI ต่อแนวปฏิบัติด้านการจัดการความรู้ในหลากหลายอุตสาหกรรม จึงอยากเรียนเชิญผู้สนใจเข้าร่วมงานได้ตามวันเวลาที่กล่าวข้างต้น” ผู้อำนวยการ OKMD กล่าว

ดร.อัมพร แสงมณี กรรมการผู้จัดการ TRIS กล่าวถึงความท้าทายของการจัดการความรู้ในยุคนี้ว่า “ถึงแม้จะเห็นความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่เราต่างยังคงตระหนักว่าข้อมูล สารสนเทศ และความรู้ คือฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การใช้เทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิผล เพราะฉะนั้นความเข้มแข็งของการจัดการความรู้ขององค์กรยิ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญขององค์กรที่ต้องการอยู่รอดและเติบโตต่อไปในอนาคตที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ”

ดร. วินเซนต์ ริเบียร์ กล่าวถึงภาพรวมเกี่ยวกับวิวัฒนาการของ KM ซึ่งมีความน่าสนใจมากขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาว่า “KM ได้ผ่านการพัฒนามาแล้ว 5 ขั้นตอนที่แตกต่างกัน ในช่วงแรกให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยี ที่มุ่งเน้นการบันทึกและถ่ายทอดแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดและบทเรียนที่ได้ด้วยเครื่องมือ IT ซึ่งมองข้ามความรู้แฝงและแง่มุมของมนุษย์ไป ดังนั้นในระยะต่อมาจึงมุ่งไปที่ผู้คนมากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ผู้แสวงหาความรู้และเจ้าของความรู้ได้เชื่อมโยงและแบ่งปันความรู้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น ชุมชนนักปฏิบัติ (CoPs) ต่อมาในยุคที่มาพร้อมกับการถือกำเนิดของเครื่องมือสื่อสังคมออนไลน์ทั้งภายในและภายนอก ทำให้การแบ่งปันความรู้เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ มีการทำงานร่วมกัน และใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น มาจนถึงปัจจุบันที่กำลังก้าวเข้าสู่ “ยุคใหม่ของ KM” ซึ่งขับเคลื่อนไปด้วยความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์แบบสร้างสรรค์ หรือ Generative AI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำและมีศักยภาพที่ข้ามผ่านอุปสรรคในการจัดการความรู้ที่ยังคงมีอยู่ในองค์กร และการสัมมนาครั้งสำคัญในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงชุมชนนักจัดการความรู้ในประเทศไทย การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ และการกระตุ้นให้เกิด
การทำงานร่วมกันต่อไป”

สำหรับไฮไลท์สำคัญประกอบไปด้วย การบรรยายการจัดการความรู้ จากผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย อาทิ พลสันต์ กุลละวณิชย์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายความรู้องค์กรและปฏิบัติการสู่ความเป็นเลิศ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. สผ. ที่จะมาแบ่งปันความรู้เรื่องการจัดการความรู้ โดยแสดงให้เห็นถึงแนวปฏิบัติด้านการจัดการความรู้ของ ปตท. สผ. ที่ได้รับรางวัลในเวทีระดับโลก สำหรับความเป็นเลิศในการจัดการความรู้ เช่น รางวัล APQC และ Global MIKE Awards นอกจากนี้ยังมีการสัมมนาในหัวข้อสำคัญของยุคนี้ “การจัดการความรู้ยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์: ก้าวสู่อนาคต” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ดร.อภิชาติ ประเสริฐ จาก OKMD ดร.อัมพร แสงมณี จาก TRIS  รศ.ดร.บวร ปภัสราทร จาก KNIT และ ดร.วินเซนต์ ริเบียร์ จาก IKI-SEA ร่วมแบ่งปันมุมมอง และอภิปรายเพื่อค้นหาว่าเทคโนโลยี AI กำลังกำหนดอนาคตของการแบ่งปันความรู้ การเรียนรู้ขององค์กร และนวัตกรรมต่างๆ อย่างไร นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมงานจะมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม Interactive Knowledge Café โดยสามารถแลกเปลี่ยนความคิด สร้างเครือข่าย รวมทั้งหารือเกี่ยวกับประเด็นสำคัญจากงานอีกด้วย  

ทั้งนี้โดยงานสัมมนา “การจัดการความรู้ยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์: ก้าวสู่อนาคต” (AI-Driven Knowledge Management: Shaping the Future) จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับบุคลากรและหน่วยงานมืออาชีพในด้านการจัดการความรู้ ด้าน AI และสาขาที่เกี่ยวข้อง ในการสำรวจว่า AI กำลังปฏิวัติวิธีการที่องค์กรจัดการและแบ่งปันความรู้ โดยผู้ร่วมงานจะได้รับข้อมูลเชิงปฏิบัติการ และเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดจากผู้นำในอุตสาหกรรม เพื่อการก้าวนำในภูมิทัศน์โลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สำหรับเครือข่ายการจัดการความรู้ประเทศไทย (TKMN) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2561 โดย OKMD, TRIS, KNIT และ IKI-SEA เพื่อส่งเสริมประโยชน์ของแนวปฏิบัติด้านการจัดการความรู้ที่มีประสิทธิภาพทั่วประเทศไทย โดย TKMN มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมนวัตกรรม การทำงานร่วมกัน และการแบ่งปันความรู้ระหว่างมืออาชีพ นักวิชาการ และธุรกิจ

ส่วนผู้สนใจ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้องค์กรละ 1-2 คน ที่ : https://forms.gle/jZYGBN6qbnruN9Ln8  หรือ scan qr code ด้านล่าง และสอบถามข้อมูลและติดต่อการลงทะเบียนที่ คุณพลอยณิชชา (09 8465 4429) และคุณภูวนัย (06 4596 1565)

                                  —————————————-

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *