กรมชลประทานเร่งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นอ่างเก็บน้ำห้วยแม่มาศ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ มุ่งเพิ่มน้ำต้นทุนให้ภาคครัวเรือน ภาคเกษตร หวังเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ให้ราษฎร 5 หมู่บ้านในตำบลปิ้งโค้ง อ.เชียงดาว กว่า 5,000 ครัวเรือน
นายมหิทธิ์ วงศ์ษา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน (ทช.) เปิดเผยว่า ราษฎรบ้านปางโม่ ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ใช้แหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภค บริโภค เพื่อการเกษตรจากลำน้ำแม่ป๋ามและห้วยแม่มาศเป็นหลัก และราษฎรมักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตรในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ ทั้งนี้ ในอดีตราษฎรปิงโค้งได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่มาศในปี 2530 แต่เนื่องจากจุดที่ตั้งโครงการอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแดง (เชียงดาว) กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการศึกษาและพิจารณาเลื่อนจุดที่ตั้งโครงการ ฯ มาอยู่ด้านท้ายน้ำและอยู่นอกเขตอุทยาน ผลการศึกษาวางโครงการ ฯ แล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2561 พบว่าจุดที่ตั้งหัวงานอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว บริเวณป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม โซน C กินพื้นที่ประมาณ 203 ไร่ ซึ่งเข้าข่ายประเภทและขนาดโครงการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือ IEE (Initial Environmental Examination)
“การศึกษาด้านอุทกวิทยาพบว่าบ้านปางโม่ ต.ปิ้งโค้ง มีน้ำท่ามากถึงปีละ 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในขณะที่ในพื้นที่มีเพียงฝายแม่ป๋ามและฝายแม่มาศกั้นลำน้ำแม่ป๋ามกับห้วยแม่มาศ สามารถบริหารจัดการน้ำได้เพียง 270,000 ลบ.ม. ดังนั้น กรมชลประทานจึงดำเนินโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำห้วยแม่มาศ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ บริเวณหมู่ 8 บ้านปางโม่ ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จัดเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ปริมาณเก็บกัก 2.57 ล้านลบ.ม. สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรในฤดูแล้งได้ 3,414 ไร่ และในฤดูฝนได้ 3,547 ไร่ รวมถึงเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กิจกรรมใช้น้ำอื่น ๆ ให้กับ ประชากรรวมกัน 6 หมู่บ้าน 1,646 ครัวเรือน เพิ่มความมั่นคงด้านน้ำต้นทุนให้กับอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชาชนในพื้นที่ เพิ่มมูลค่าผลประโยชน์ทางการเกษตรได้ราว 152,000 บาทต่อครัวเรือน เสริมสร้างความมั่นคงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี” นายมหิทธิ์ กล่าว
ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน กล่าวว่า นอกจากผลประโยชน์ดังกล่าวแล้ว โครงการอ่าง ฯ ห้วยแม่มาศ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญในการดับไฟป่าใน อ.เชียงดาวที่เกิดขึ้นเป็นประจำ อีกทั้งยังช่วยรักษาระบบนิเวศน์ท้ายน้ำและเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติ ทั้งนี้ คาดว่าโครงการ ฯ จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2569 ใช้ระยะเวลาการก่อสร้าง 3 ปีจึงแล้วเสร็จ
ด้านนายทศพัฒน์ เลาจาง นายกเทศมนตรีตำบลปิงโค้ง เผยว่า ราษฎรหมู่ที่ 2 บ้านปางเฟือง หมู่ที่ 3 บ้านแม่ป๋าม หมู่ที่ 5 บ้านไตรสภาวคาม หมู่ที่ 8 บ้านปางโม่ หมู่ที่ 12 บ้านแม่มะกู้ และหมู่ที่ 16 บ้านห้วยน้ำริน ต.ปิงโค้ง ประกอบอาชีพปลูกพืชไร่ เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี กระเทียม และพืชสวน เช่น ลำไย มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เป็นหลัก และประสบปัญหาไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง แต่เดิมได้แก้ไขโดยการนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยลึก ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงมาเติมในพื้นที่ แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศที่ผันผวน ทำให้ระยะ 7 ปีหลังน้ำในลำน้ำแม่ป๋ามและห้วยแม่มาศเหือดแห้ง เกษตรกรต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชทดแทน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพผลผลิต รายได้ รวมไปถึงคุณภาพชีวิต
“อ่างเก็บน้ำห้วยแม่มาศจะเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านอย่างมาก นอกจากจะมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างไม่ขาดแคลนตลอดทั้งปีแล้ว ยังสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการเกษตรเมื่อชาวบ้านมีผลผลิตดี รายได้เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมให้กับตำบลปิงโค้งในที่สุด” นายกเทศมนตรี ต.ปิงโค้ง กล่าวในตอนท้าย
————————————————————