ครบรอบ 12 ปีสำหรับโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ซึ่งล่าสุดได้มีการจัดพิธีรับตราพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ประจำปีการศึกษา 2565 เมื่อวันที่ 18 – 23 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ อาคารพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า องค์การพิพิธภัณฑ์ วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จ.ปทุมธานี โดยมีเครือข่าย และโรงเรียนจำนวน 12,654 โรงเรียนทั่วประเทศที่ผ่านการประเมินเข้ารับตราพระราชทาน
โดยในปีการศึกษา 2565 โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ระดับปฐมวัยมีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการกว่า 29,144 โรงเรียนทั่วประเทศ ผ่านผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น 255 แห่ง และระดับประถมศึกษามีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการกว่า 3,981 โรงเรียนทั่วประเทศ ผ่านผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น 197 แห่ง โดยมีครูผู้สอนในระดับปฐมวัยในระบบกว่า 50,000 คน ไฮไลท์ในปีนี้คือการมุ่งเน้นไปที่เรื่อง Education for Sustainable Development (ESD) เพื่อสนับสนุนแนวคิดเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ (UN)
คุณคิม จงสถิตย์วัฒนา เลขานุการและกรรมการโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย กล่าวว่า จุดเด่นของโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย คือการใช้การเรียนรู้แบบ STEM ศึกษา นั่นคือ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) โดยมุ่งการสร้างคนตั้งแต่ปฐมวัย ปลูกฝังแนวคิดเรื่อง “ความยั่งยืน” หรือ Education for Sustainable Development (ESD) ด้วยการฝึกให้เด็กๆ คิดถึงสิ่งที่อยู่รอบตัว ชุมชน ด้วยการกระตุ้นและพัฒนา ศักยภาพของครูอนุบาลทั่วประเทศให้มีความรู้และทักษะทางวิทยาศาสตร์ด้วยกระบวนการอบรมครูอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันโครงการได้มีการขยายกิจกรรมไปที่ระดับประถมศึกษา โดยมีวิทยากรแกนนำระดับประถมศึกษาจำนวน 29 คน ทำงานร่วมกับวิทยากรแกนนำระดับปฐมวัย จำนวน 30 คน ในการขับเคลื่อนโครงการ
สำหรับทิศทางของโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย จากนี้ กิจกรรมในระดับประถมศึกษายังคงเน้นแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะ (Inquiry) เพื่อส่งเสริมให้เด็กรู้จักสักเกต คิด ตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยตนเอง เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เช่นเดียวกับระดับปฐมวัย มีความเชื่อมโยงกัน และเพิ่มความลุ่มลึกในการเรียนรู้ตามพัฒนาการของเด็ก ดังนั้น คุณครูในระดับปฐมวัยและประถมศึกษาควรร่วมมือกันจัดการเรียนรู้ตามแนวทางของโครงการให้มีความเชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ
พร้อมกันนี้ โครงการยังได้กำหนดการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ให้กับเด็กๆ โดยระดับปฐมวัย กำหนดให้ทุกชั้นเรียนมีการจัดกิจกรรมไม่ต่ำกว่า 10 กิจกรรมต่อชั้นปี รวมไม่ต่ำกว่า 20 กิจกรรม นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการจัดการเรียนรู้โครงงานแบบสืบเสาะตามหัวข้อที่เด็กสนใจอีก 1 โครงงานต่อชั้นปีการศึกษา ส่วนในระดับประถมศึกษา กำหนดจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะไม่ต่ำกว่า 8 กิจกรรมต่อชั้นปี ซึ่งนักเรียนทุกคนจะต้องทำการสืบเสาะด้วยตนเอง โดยคุณครูสามารถหากิจกรรมที่เหมาะสมกับบริบทและท้องถิ่นให้กับเด็กๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เพิ่มขึ้น
คุณคิม กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทางโครงการได้ขอความร่วมมือจากผู้บริหารสถานศึกษาให้การสนับสนุนคุณครูทุกคนในการรับการอบรมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนทรัพยากรในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กๆ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันโครงการมีสื่อและการเรียนรู้ที่หลากหลายให้เด็กๆ โดยมีเว็บไซต์ของโครงการที่รวบรวมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโครงการ กิจกรรม และคู่มือการจัดกิจกรรม ฯลฯ
อีกไฮไลท์สำคัญในปีนี้ โครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย จะมีการจัดกิจกรรมความหลากหลายทางพรรณพืช ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กได้สำรวจต้นไม้ในชุมชนของตนเอง โดยโครงการจะคัดเลือกหน่วยงานดีเด่นเพื่อเรียบเรียงเป็นหนังสือ เฉลิมพระเกียรติ 70 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และในปี 2567 โครงการจะมีจัดกิจกรรมเทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย และการประชุมวิชาการเพื่อเป็นเวทีนำเสนอและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันเกี่ยวกับการบริหารโครงการ และการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางของโครงการ ฯลฯ
“โครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ขอขอบคุณวิทยากรแกนนำ ผู้นำ และวิทยากรเครือข่ายท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา และคุณครูทุกท่านที่ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง จากนี้เราจะก้าวต่อไปด้วยกัน เพื่อสร้างแนวทาง Education for Sustainable Development (ESD) ให้กับเด็กไทยอย่างยั่งยืน” คุณคิม กล่าวทิ้งท้าย