ซีพีเอฟช่วยเกษตรกรก้าวผ่านวิกฤตภัยแล้ง เดินหน้า “ปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” ปีที่ 20

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายนปีนี้ จะส่งผลให้ฤดูฝนของไทย ปี 2566 ล่าช้าและค่าฝนตกเฉลี่ยน้อยกว่าปีที่ผ่านมา และยังทำให้เกิดคลื่นความร้อน รวมถึงเกิดปัญหาภัยแล้งเป็นบริเวณกว้าง และอาจรุนแรงติดต่อกันมากถึง 3 ปี ปัญหานี้สร้างผลกระทบกับพี่น้องเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากแต่เกษตรกรที่อยู่ใน “โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กลับไม่ต้องวิตกกับเรื่องนี้ เนื่องจากมีน้ำปุ๋ยที่บริษัทแบ่งปันให้ตลอดทั้งปี มาใช้รดพืชผลทางการเกษตร จึงไม่ต้องเผชิญปัญหาภัยแล้งมานานกว่า 20 ปี

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ฟาร์มสุกรจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่ริเริ่มโครงการปันน้ำปุ๋ย เมื่อ 17 ปีก่อนจากจุดเริ่มต้นของปัญหาภัยแล้งและน้ำจากแม่น้ำปิงยังเข้าไม่ถึง ส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรทำการเกษตรไม่ได้ ขณะที่ฟาร์มจอมทองมีระบบใช้น้ำหมุนเวียนภายในฟาร์ม ไม่มีการปล่อยน้ำออกสู่ภายนอกดังเช่นฟาร์มของบริษัททั่วประเทศ โดยใช้น้ำปุ๋ยจากบ่อบำบัดบ่อสุดท้ายหลังออกมาจากระบบไบโอแก๊ส (Biogas) สำหรับรดน้ำต้นไม้และสวนหย่อมในฟาร์ม เมื่อเกษตรกรสังเกตว่าแม้จะอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่ต้นไม้ในฟาร์มกลับเขียวชอุ่ม ไม่เคยมีปัญหาแล้ง จึงขอนำน้ำปุ๋ยไปใช้เพื่อแก้ปัญหานี้ ทางฟาร์มจึงต่อท่อน้ำไปถึงหน้าไร่-สวน ปัจจุบันมีเกษตรกรรับน้ำรวม 13 ราย

นางพันธนา สิงห์ทะ หนึ่งในเกษตรกรผู้ใช้น้ำเป็นรายแรกๆ บอกว่า ก่อนที่จะร่วมโครงการฯ พื้นที่ทั้งหมดปลูกพืชแทบไม่ได้เลย ถึงปลูกได้ก็ไม่งาม เพราะพื้นที่เป็นดินทราย หลังจากได้น้ำปุ๋ยของฟาร์มจอมทองมาใช้ แล้วเห็นผลผลิตดีก็ใช้มาตลอด ทั้งการใช้เพาะปลูกข้าวโพดผลผลิตก็เพิ่มขึ้นดีมาก ส่วนการปลูกพริก ปลูกมะเขือ ก็ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเลย และยังเคยลองปลูกเปรียบเทียบกัน โดยแปลงหนึ่งใช้น้ำปุ๋ย อีกแปลงไม่ใช้ เห็นผลที่แตกต่างอย่างชัดเจน แปลงที่ไม่ใช้ปุ๋ยพืชผลจะไม่งาม แม้แต่ตอนใช้ปุ๋ยเคมีผลผลิตยังไม่ดีเท่าน้ำปุ๋ย เกษตรกรจึงตั้งชื่อว่าน้ำวิเศษ

สอดคล้องกับ นายอินทัน สิงห์ทะ เกษตรกรผู้ปลูกพืชผักและสวนผสม กล่าวว่า หากไม่ใช้น้ำปุ๋ยผลผลิตจะไม่ดีเท่าที่ควร น้ำที่ได้รับนี้มีประโยชน์เมาก ประหยัดต้นทุน พืชผลเจริญเติบโตดี เพราะในน้ำมีแร่ธาตุที่เหมาะกับพืช หากไม่ใช้จะต้องมีค่าใช้จ่ายซื้อปุ๋ยเคมี แต่ตอนนี้ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีแล้ว พืชผลเติบโตสมบูรณ์ดี สามารถปลูกพืชได้ตลอดปี ไม่เคยขาดน้ำ และไม่เคยประสบกับปัญหาภัยแล้งอีกเลย

ด้าน นายสุเทพ อะตะมะ เกษตรกรผู้ปลูกพืชส่วนครัว กล่าวเสริมว่า ถ้าไม่ได้ใช้น้ำปุ๋ยต้นพืชจะไม่งาม และสิ้นเปลืองปุ๋ยเคมี เมื่อเทียบกันแล้วแม้จะใช้ปุ๋ยเคมี พืชก็ไม่งามเท่ากับใช้น้ำปุ๋ย ที่ผ่านมาเกษตรกรไม่มีน้ำใช้ ก็ได้น้ำปุ๋ยจากฟาร์มหมูมาช่วยไว้ ขอขอบคุณซีพีเอฟที่จัดโครงการนี้ ทำให้ชาวสวนได้พึ่งพาน้ำช่วยให้พืชผลงอกงาม ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้

ส่วนที่ ฟาร์มสุกรปราจีนบุรี อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ที่จัดโครงการน้ำปุ๋ยให้กับเกษตรรอบข้าง มานานกว่า 15 ปี ปัจจุบันมีเกษตรกร 6 รายรับน้ำไปใช้ต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ นางนิมนต์ วงษ์แก้ว บอกว่า ตนเองรับน้ำปุ๋ยมาตั้งแต่ปี 2556 หลังจากเห็นตัวอย่างฟาร์มอื่นๆของบริษัทที่จัดโครงการปันน้ำปุ๋ย จึงขอรับน้ำมารดดินเตรียมปลูกมันสำปะหลัง พบว่าได้หัวมันใหญ่ ให้ผลผลิตเยอะจึงใช้มาตลอด ตอนหลังเปลี่ยนมาปลูกผักสวนครัว มะเขือ แตงกวา ก็งามเหมือนกัน โดยไม่ได้ใส่ปุ๋ยชนิดอื่น จากนั้นปลูกมะพร้าวโดยทำร่องขังน้ำไว้ ปรากฏว่ามะพร้าวงาม จากปกติ 7-8 ปีถึงจะติดลูก แต่ที่สวนปลูกแค่ 4-5 ปี ก็เก็บผลผลิตได้ จากนั้นจึงปลูกกล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ ข่า ตะไคร้ ชะอม ก็ได้ผลดีอีก ตอนนี้ปลูกยูคาได้ไม่ถึงปีต้นโตดีเพราะได้น้ำปุ๋ยชั้นดี ค่าปุ๋ยก็ไม่ต้องเสีย สวนไผ่เลี้ยงของพี่ชายก็ใช้น้ำปุ๋ยจากฟาร์มผลผลิตก็ดีเหมือนกัน ขุดตอขายได้ตลอด แต่ละปีขายได้หลายครั้ง ที่สำคัญตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยประสบปัญหาแล้ง ขอบคุณซีพีเอฟที่ปันน้ำปุ๋ยให้กับเกษตรกร

ทางด้าน ฟาร์มสุกรนนทรี อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ที่แบ่งปันน้ำให้เกษตรกร 9 ราย สำหรับใช้ปลูกอ้อย ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยูคา หญ้าเลี้ยงสัตว์ พืชสวนครัว โดยพื้นที่ 2-3 กิโลเมตรรอบฟาร์ม จะต่อท่อน้ำให้เกษตรกร ส่วนพื้นที่ไกลกว่านั้นเกษตรกรจะมาสูบน้ำไปใช้เอง นอกจากนี้ฟาร์มยังแบ่งปันกากมูลสุกรหลังการบำบัดจาก Biogas ให้เกษตรกรด้วย

นายอ๊อด ปัตธิสามะ เกษตรกรผู้รับน้ำปุ๋ยเป็นรายแรกตั้งแต่ปี 2558 เล่าว่า เนื่องจากเกิดปัญหาภัยแล้งไม่มีน้ำประปา สวนของอยู่ติดฟาร์มนนทรี ผู้จัดการฟาร์มจึงแนะนำให้ลองใช้น้ำปุ๋ยที่มีแร่ธาตุเหมาะสมกับต้นพืช โดยใช้รดต้นยูคากับมะละกอ รวมถึงสวนผสม ทั้งสวนพริก ฟักทอง เผือก ซึ่งได้ผลดีจึงใช้น้ำมาตลอด ไม่ต้องหาน้ำจากแหล่งอื่น พืชผลงามได้ผลผลิตดีมาก ที่ผ่านมาแทบไม่ต้องใช้ปุ๋ยเลย ลดค่าปุ๋ยได้มากกว่า 70% โครงการนี้ดีมาก ได้น้ำปุ๋ยที่มีแร่ธาตุเหมาะสม ขอบคุณฟาร์มที่ปันน้ำให้ และยังสนับสนุนรับซื้อผลผลิตจากสวน เพื่อนำไปปรุงอาหารให้กับพนักงานด้วย

ขณะที่ นายยนต์ คงโนนนนอก ที่เริ่มใช้น้ำเมื่อปี 2561 จากจุดเริ่มต้นที่อยากลองใช้ว่าผลจะเหมือนอย่างที่คนอื่นๆ บอกว่าน้ำปุ๋ยดีหากใช้อย่างเหมาะสม จึงขอรับน้ำมาใช้กับนาข้าวแม้ช่วงแรกจะยังไม่รู้ปริมาณที่เหมาะ แต่เมื่อได้ทดลองใช้น้ำปุ๋ยผสมกับน้ำที่ขังในนาข้าว พบว่าข้าวได้ผลดี หลังเกี่ยวข้าวก็ปลูกข้าวโพดหลังนาต่อ ใช้ปุ๋ยเสริมการเพาะปลูกเล็กน้อยช่วงออกดอกเข้าฝัก ได้ผลผลิตดีมาก 5 ปีที่ผ่านมา การใช้น้ำจากฟาร์มมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำ รู้เรื่องแร่ธาตุ ความเข้มข้นต่างๆ โครงการนี้ถือเป็นประโยชน์ ดีกับการเพิ่มผลผลิตเกษตร ลดการใช่ปุ๋ยเคมีได้มาก ปกติเคยใช้ 6-7 กระสอบปุ๋ยเคมีต่อปี หลังใช้น้ำปุ๋ยใช้แค่ 2-3 กระสอบต่อปีเท่านั้น ช่วยประหยัดต้นทุนได้มาก เพิ่มรายได้ ผลผลิตดีขึ้นมากกว่า 50% อย่างการปลูกข้าวแต่ก่อนได้ผลผลิตไม่ถึง 500 กิโลกรัมต่อไร่ ตอนนี้ได้ถึง 600-700 กิโลกรัมต่อไร่

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของความสำเร็จ จากการบริหารจัดการน้ำของซีพีเอฟ จากความมุ่งมั่นในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตลอดห่วงโซ่การผลิต ลดของเสียในกระบวนการผลิต รวมถึงการเปลี่ยนของเสียให้กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สอดรับกับ BCG Model ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) 

โดยเฉพาะความสำเร็จจากธุรกิจสุกรที่ดำเนิน “โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” รอบข้างฟาร์มมานานกว่า 20 ปี ปัจจุบันได้ต่อยอดสู่ธุรกิจไก่ไข่ ด้วยการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลไก่ ให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงนำไปใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูก ซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่การผลิตของบริษัท ภายใต้หลักการ 3Rs ด้วยการลดปริมาณการใช้น้ำดิบจากธรรมชาติ (Reduce) นำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เพื่อให้กระบวนการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมายความยั่งยืน “CPF 2030 Sustainability in Action” สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs)       

                                                        ———————————————-

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *