ไข่ไก่ มาตรการคุมราคาสูง ไร้มาตรการช่วยเหลือช่วงราคาตกต่ำ ภาระหนักของเกษตรกร “อัปสร พรสวรรค์”

ไข่ไก่ แม้ว่าจะเป็นอาหารโปรตีนคุณภาพสูง มีประโยชน์ต่อทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้า ที่สำคัญราคาถูกที่สุดที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ แต่ยังคงเป็นสินค้าเกษตรที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรมจากภาครัฐ ในทางตรงกันข้ามกลับกลายเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจและการเมืองกดราคาให้ต่ำไว้ เพื่อเอาใจผู้บริโภคและถ่วงน้ำหนักดัชนีเงินเฟ้อของประเทศ และยังเป็นเครื่องมือวัดประสิทธิภาพของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลใดไม่สามารถคุมราคาได้ก็จะเสียคะแนนนิยมจากประชาชนไป

สำหรับปริมาณการเลี้ยงไก่ไข่ยืนกรงของไทยมีประมาณ 50 ล้านตัวเศษ ไข่ไก่มีวันละ 42 ล้านฟองต่อวัน มีการบริโภคในประเทศวันละ 41 ล้านฟอง และส่งออกวันละเกือบ 1 ล้านฟอง ที่ผ่านมา การปรับราคาขายปลีกไข่ไก่หน้าฟาร์มแม้เพียง 5-10 สตางค์/ฟอง เสียงบ่นก็ตามมาติดๆ โดยเฉพาะไข่ไก่ไม่ว่าจะถูกหรือแพงเป็นหัวใจสำคัญต่อค่าครองชีพของคนไทย รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเอาใจผู้บริโภคซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญ จนลืมไปว่าเกษตรกรก็เป็นผู้บริโภคคนหนึ่งเหมือนกัน และเป็นผู้บริโภคที่มีอำนาจต่อรองต่ำกว่าคนในเมืองและประชาชนทั่วไป รัฐบาลจึงใช้มาตรการควบคุมราคากันมายาวนานทุกยุคทุกสมัย โดยไม่คำนึงต้นทุนและปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่น ราคาพลังงาน วัตถุดิบอาหารสัตว์ ยาเพื่อป้องกันโรค ที่ราคาผันผวนขึ้น-ลงตามราคาในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้เลี้ยงต้องแบกต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ราคาไม่ปรับตามกลไกตลาดได้  

นอกจากนี้ ฟาร์มไก่ไข่ของไทยในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาไปมาก ฟาร์มเลี้ยงไก่ไม่ได้อยู่ในมือรายใหญ่หรือบริษัทขนาดใหญ่อีกต่อไป ข้อเท็จจริง คือ ฟาร์มเลี้ยงไก่จำนวนมากเป็นของเกษตรกรท้องถิ่นทั้งรายเล็กและรายกลาง ที่เลี้ยงเป็นจำนวนมากและมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบทัดเทียมกับฟาร์มขนาดใหญ่ แต่สิ่งที่ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ในอุตสาหกรรมต้องเผชิญร่วมกันคือ “ไข่” เป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชีควบคุมราคาของกระทรวงพาณิชย์

มาตรการควบคุมราคาของกระทรวงพาณิชย์ คือ การคุมไม่ให้ราคาไข่ไก่สูงเกินไปจนผู้บริโภคได้รับความเดือนร้อน แต่ไม่มีมาตรการคุมราคาขั้นต่ำเมื่อราคาไข่ไก่ตกต่ำจนเกษตรกรต้องแบกภาระขาดทุนมาโดยตลอด และตั้งแต่ต้นปี 2565 สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ จะมีการการปรับราคาไข่คละหน้าฟาร์มไปแล้ว 2 ครั้ง เมื่อเดือนมกราคม 10 สตางค์/ฟอง และล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม อีก 20 สตางค์/ฟอง ส่งผลให้ราคาไข่คละหน้าฟาร์มเพิ่มขึ้นจาก 2.90 บาท/ฟอง เป็น 3.20 บาท/ฟอง ซึ่งในความเป็นจริงคือการร่วมแรงร่วมใจกันตรึงราคาของเกษตรกรทั้งสิ้น

ทั้งนี้ การปรับราคาไข่คละหน้าฟาร์มที่ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติร่วมกันระหว่างผู้ผลิตกับกระทรวงฯมามากกว่า 10 ปี คือ ราคาขายไข่คละหน้าฟาร์ม จะไม่สูงเกินกว่า 20% ของต้นทุนอ้างอิงของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบัน คือ 2.94 บาทต่อฟอง ดังนั้น ราคาไข่คละหน้าฟาร์มที่จะสามารถขายได้ คือ 3.50 บาท/ฟอง ขณะที่ราคาขายจริงขณะนี้คือ 3.10 บาท/ฟอง รัฐบาลก็ใช้มาตรการเข้าควบคุมราคาแล้ว

ล่าสุด สมาคมการค้าผู้ค้าไข่ไทย เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า หากดูราคาไข่ไก่ย้อนหลัง 5 ปี นับจาก ปี 2560 ที่จำหน่ายอยู่ฟองละ 2.30 บาท และเคยขึ้นไปสูงสุด เมื่อ 1 มิถุนายน 2564 ที่ราคา 3.00 บาท หลังจากนั้นราคาปรับลดลงเหลือเฉลี่ย 2.60-2.80บาท/ฟอง มาจนถึงเดือนมกราคมที่ผ่าน เท่ากับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ราคาไข่ไก่เปลี่ยนแปลงไป 80-90 สตางค์/ฟอง เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงที่เพิ่มพุ่งขึ้นมากตามวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นผู้ผลิตธัญพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์อย่างข้าวโพดและข้าวสาลี โดยข้าวโพดราคาปรับขึ้น 14% และข้าวสาลี 43% ตามลำดับ กระนั้นรัฐบาลยังไม่ยอมถอดไข่ไก่ออกจากบัญชีสินค้าควบคุม

เพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อผู้เลี้ยงไก่ไข่ เมื่อรัฐบาลใช้มาตรการควบคุมเพดานราคาไม่ราคาสูงเกินไป (Ceiling Price) เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รัฐบาลก็ควรมีมาตรการคุมราคาขั้นต่ำ (Floor Price) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงเวลาที่ไข่ไก่ตกต่ำด้วย ให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย หาใช่ปกป้องแต่ผู้บริโภคอย่างเดียวเช่นในปัจจุบัน เพราะเกษตรกรก็ต้องเผชิญกับต้นทุนหลายด้านรวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้นไม่ต่างกับผู้บริโภคทั่วไป

ภาครัฐบาลควรเป็นผู้กำกับดูแลกลไกการตลาดให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าการใช้มาตรการควบคุมราคาในภาวะที่ต้นทุนการผลิตพุ่งสูงขึ้นจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ และไข่ไก่ไม่เหมือนสินค้าอุปโภคชนิดอื่นที่สามารถปรับลดขนาดหรือปริมาณบรรจุเพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นได้ หาไม่ผู้เลี้ยงจะทยอยหายไปจากวงการ สั่นคลอนความมั่นคงทางอาหารของประเทศในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน.

                              ———————————————

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *