“ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ” ตอกย้ำอันดับ 1 ด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลเปิด “ห้องปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ฮาลาล ตันสรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” สร้างมาตรฐานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลต้นแบบของโลก
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2561 ในโอกาสครบรอบ 15 ปี “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” พร้อมทั้งรำลึกถึง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่ได้มีคุณูปการต่อศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ จึงได้จัดพิธีเปิด “ห้องปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ฮาลาล ตันสรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ”
โดยได้รับเกียรติจาก นายเดลลิลาห์ อัลฮุสนี เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรโมร็อคโคประจำประเทศไทย,
นายชวน หลีกภัย,อดีตนายกรัฐมนตรี
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และครอบครัว ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ โดยมีศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นประธานเปิดงาน โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้การต้อนรับ
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดี พร้อมทั้งให้เกียรติ แด่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีต่อศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ มาอย่างต่อเนื่อง ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) จึงได้ทำพิธีเปิด “ห้องปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ฮาลาล ตันสรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” (Tan Sri Dr.Surin Pitsuwan Halal Science Research and Innovation Laboratory : PS Halal Lab) ขึ้น
ทังนี้โดย “ห้องปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ฮาลาล ตันสรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” เรียกสั้นๆว่า “PS Halal Lab” ตั้งอยู่บนชั้น 13 ของอาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนจุฬาลงกรณ์ 12 มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 400 ตารางเมตร ภายในประกอบด้วยห้องปฏิบัติการวิจัยชีวเคมีโภชนาการ ห้องปฏิบัติการวิจัยนาโนวิทยาและคอสเมติกส์ และห้องปฏิบัติการวิจัยชีววิทยาโมเลกุล พร้อมทั้งมีนักวิทยาศาสตร์คุณภาพกว่า 50 ชีวิต จึงทำให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ เป็นศูนย์กลางถ่ายทอดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลให้กับทั่วโลก
อย่างไรก็ตามตลอดเวลากว่า 15 ปี ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ได้ทำการตรวจผลิตภัณฑ์ไปแล้วกว่า 110,000 ชิ้น โดยเป็นตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งมาจากองค์กรศาสนาอิสลามในประเทศไทย ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค นักวิทยาศาสตร์สุ่มตัวอย่าง องค์กรนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ และองค์กรจากต่างประเทศที่ส่งผลิตภัณฑ์มาโดยตรง และปัจจุบันศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถตรวจ DNA ได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในอนาคตทางศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ต้องการที่จะพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อที่จะไม่ต้องใช้เทคโนโลยีอีกต่อไป ภายใต้แนวคิด “Precision Halalization” เป็นการพัฒนาห้องปฏิบัติการที่ล้ำยุค สามารถตรวจการปนเปื้อนได้ทุกชนิด จนในที่สุดจะไม่มีใครกล้าผลิตสินค้าที่ปนเปื้อนอีกต่อไป
“ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ เชื่อมั่นว่า ห้องปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ฮาลาล ตันสรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” จะเป็นห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่มุ่งมั่นสร้างนวัตกรรมฮาลาลทั้งด้านอาหารและไม่ใช่อาหาร ช่วยตอกย้ำอันดับ 1 ด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลของไทยสู่สายตาโลกอีกด้วย สร้างความเชื่อมั่น มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นจุดสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้แบบก้าวกระโดดอย่างแน่นอน” รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าวปิดท้าย
—————————- GEN———————-