เปิดศูนย์เฉพาะกิจจัดการน้ำภาวะวิกฤต

นายกฯสั่งตั้งศูนย์เฉพาะกิจจัดการน้ำภาวะวิกฤต

9หน่วยงานระดมประเมินสถานการณ์น้ำ 24 ชม.

สทนช.เปิดศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต ระดมพลจาก 9 หน่วยงานร่วมปฏิบัติงานในศูนย์ตลอด 24 ชม.ตีกรอบ 4 แผนปฏิบัติการติดตามสถานการณ์ทั้งลุ่มน้ำในประเทศ ลุ่มน้ำระหว่างประเทศ และปริมาณน้ำในเขื่อนให้เข้าเกณฑ์ปกติโดยเร็ว กระทบพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด

เมื่อวันที่3 ส.ค.61) เวลา 08.00 น. นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)เป็นประธานการประชุม “ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 9 หน่วยงาน ประกอบด้วยกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และ กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมประชุมหารือแผนปฏิบัติศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต ณ ห้องประชุมปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน สามเสน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า สทนช. ได้ออกคำสั่งที่ 216/2561 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2561 เรื่อง จัดตั้ง “ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต”ขึ้น  เนื่องจากขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยเริ่มมีน้ำหลาก ประกอบกับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางหลายแห่ง มีปริมาณน้ำมากกว่าเกณฑ์ควบคุมที่กำหนดไว้ ดังนั้น เพื่อเป็นการดำเนินการเชิงป้องกัน และไม่ให้เกิดความเสียหายที่เกิดจากน้ำ ทั้งลุ่มน้ำภายในประเทศ และลุ่มน้ำระหว่างประเทศ ให้เป็นเอกภาพในการอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีบัญชาให้เปิดศูนย์เฉพาะกิจติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง โดยอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี

สำหรับการทำงานของศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต ซึ่งมีนายสำเริง แสงภู่วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ และมีผู้แทนจาก 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมประชาสัมพันธ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งผู้แทนหน่วยงานข้างต้นเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจแทนหน่วยงานได้ ร่วมปฏิบัติการที่ศูนย์ฯ ตลอด24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันนี้ (3 ส.ค.61) เป็นต้นไป

โดยใช้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน สามเสน เป็นศูนย์ฯ ปฏิบัติการชั่วคราว  โดยทุกหน่วยงานจะร่วมบูรณาการข้อมูลทั้งการคาดการณ์แนวโน้ม สถานการณ์จริงในพื้นที่  และประเมินสถานการณ์ในการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ 1. เพื่อติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการน้ำ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะรวมข้อมูลน้ำทั่วประเทศจากทุกหน่วยงาน มาประมวลผลเป็นข้อมูลเดียวกันใช้กับทุกหน่วยงาน 2. กำหนดเกณฑ์โค้งปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Reservoir Operation Rule Curves) สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง เพื่อใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำให้เป็นไป อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้โดยจะพิจารณาเกณฑ์ควบคุมตอนบน (Upper Rule Curve) เพื่อควบคุมระดับน้ำตอนบนที่กำหนดไว้ไม่ให้มีระดับน้ำสูงเกินกว่าเกณฑ์ระดับควบคุมตอนบน เพื่อรองรับปริมาตรน้ำที่จะไหลลงอ่างฯ 3.พร่องน้ำจากอ่างฯ ที่เกินเกณฑ์ระดับควบคุมตอนบน (Upper Rule Curve) ให้อยู่ในเกณฑ์ภายใน 5 วัน และ4.การอำนวยการ กำกับ ประสาน และติดตาม แผนการเตรียมความพร้อมการรับมือน้ำหลาก ปี’61 โดยเฉพาะการพร่องน้ำ การระบายน้ำ การชดเชยเยียวยา และการแจ้งข้อมูลข่าวสารไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์

อย่างไรก็ตามทางศูนย์ฯ จะรายงานความก้าวหน้าเป็นประจำทุกวันต่อรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) และนายกรัฐมนตรี ให้ทราบเป็นระยะ เพื่อเป็นข้อมูลตัดสินใจในเชิงนโยบายกรณีเกิดภาวะวิกฤตด้วย.

———————GEN———————

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *