Covestro Innovation Design Contest 2019

เทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คว้ารางวัลชนะเลิศโครงการ IDC 2019 โชว์ผลงานวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนจากไอเดียสุดเจ๋ง พร้อมสนับสนุนการพัฒนาภาคการศึกษาประเทศไทยอย่างยั่งยืน

          โคเวสโตร (ประเทศไทย) และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) มอบรางวัลชนะเลิศให้แก่นักศึกษาทีม วากาวากาเอเอจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ชนะเลิศจากโครงการ Covestro Innovation Design Contest 2019 (IDC 2019) การประกวดออกแบบสิ่งประดิษฐ์เชิงนวัตกรรมเพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาในหัวข้อ “Fun Lesson” ตามแนวคิด STEAM ยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยนวัตกรรม พร้อมต่อยอดการสร้างนักออกแบบนวัตกรรมรุ่นใหม่ สนับสนุนการพัฒนาภาคการศึกษาของประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อเร็วๆ นี้

          ดร.เยอร์เกน มายน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การจัดโครงการ  Covestro Innovation Design Contest 2019 (IDC 2019) มีเป้าหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาของประเทศไทยด้วยนวัตกรรม และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบสื่อการเรียนการสอนเชิงนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals) ที่จะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ตลอดจนนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับคนไทยในระยะยาวอีกด้วย”

          “โครงการ Covestro Innovation Design Contest 2019 จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยตลอดระยะเวลาที่เปิดรับสมัคร โครงการฯ ได้รับความสนใจและการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และอาชีวศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีและปวส.จากทั่วประเทศที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดมากกว่า 200 ไอเดียซึ่งถือว่าได้รับความสำเร็จและการตอบรับที่ดียิ่งเกินกว่าที่ตั้งไว้” ดร.เยอร์เกน กล่าว

          ทั้งนี้ ผลงานของผู้เข้าแข่งขันทุกทีมที่ส่งเข้าร่วมกับโครงการนี้ แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวด้านนวัตกรรมอย่างเห็นได้ชัด ที่สำคัญผลงานและแนวคิดของแต่ละทีมยังสร้างความตื่นเต้น และเซอร์ไพรส์ให้กับคณะกรรมการตัดสินเป็นอย่างมาก เพราะความคิดสร้างสรรค์ของทุกทีมไร้ขีดจำกัด และโดดเด่นเกินกว่าที่คณะกรรมการได้ตั้งเป้าหมายไว้ ทำให้เห็นศักยภาพและความพร้อมของนวัตกรรุ่นใหม่ของประเทศไทยในอนาคตอย่างชัดเจน

          ทีม “วากาวากาเอเอ” จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คว้ารางวัลชนะเลิศกับผลงาน “คารูอิ ทรัค” (Karui Truck) ที่ผสมผสานการคิดเชิงคณิตศาสตร์กับการเล่นเกมส์ก่อสร้างด้วยตัวต่อ ซึ่งนอกจากได้ฝึกทักษะด้านการคำนวณแล้ว ยังช่วยพัฒนาเรื่องการวางแผน นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มฟังก์ชั่นอักษรเบรลล์และฟังก์ชั่นเสียง เพื่อให้เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นสามารถใช้งานได้เช่นเดียวกับเด็กปกติทั่วไปอีกด้วย สำหรับรางวัลชนะเลิศ น้องๆ จะได้รับถ้วยรางวัลและทุนการศึกษาจำนวน 80,000 บาท พร้อมด้วยโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานที่ศูนย์นวัตกรรมโคเวสโตรเอเชียแปซิฟิก ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

          สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม “สมชาย” จากสถาบันเทคโนโลยีสุรนารีกับผลงานชื่อ “สมรัก” ซึ่งมีแนวคิดมาจากปัญหาภาวะโลกร้อนในปัจจุบันที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย สื่อนี้จะปลูกฝังการรู้จักใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ผ่านสื่อการเรียนรู้แนวใหม่ที่มีแนวคิดจากเกมเศรษฐีและเกมบันไดงู พร้อมระบบภารกิจเพื่อสร้างความภาคภูมิใจในการกู้โลกด้วยการเติมเต็มลูกโลกจำลองด้านบนให้สมบูรณ์ที่สามารถประยุกต์ใช้ร่วมกับวิชาอื่นๆ ได้อย่างอิสระ สำหรับน้องๆ ทีมสมชายจะได้รับถ้วยรางวัล และทุนการศึกษาจำนวน 50,000 บาท

          ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 และรางวัล Popular Vote ได้แก่ ทีม “Chem-PCR” จากวิทยาลัยเทคนิคระยอง กับผลงาน “Menon Sci” ชุดโมเดลจำลองการเกิดปรากฎการณ์ธรรมชาติทั้งฝนตก น้ำระเหย การควบแน่น รุ้งกินน้ำ การหักเหของแสง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งช่วยให้น้องๆ ในระดับประถมศึกษาเห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง และทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งน้องๆ จะได้รับถ้วยรางวัล และทุนการศึกษาจำนวน 30,000 บาท สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 และสำหรับรางวัล Popular Vote จะได้รับถ้วยรางวัล และทุนการศึกษา 20,000 บาท

          “ผมขอแสดงความยินดีกับผู้เข้าแข่งขันทุกทีมที่ได้รับรางวัลแห่งความสำเร็จจากโครงการประกวดในครั้งนี้ และขอชื่นชมที่แสดงให้พวกเราทุกคนได้เห็นถึงพลังความคิดสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมที่แสดงออกอย่างเต็มที่ และหวังเป็นเป็นอย่างยิ่งว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันนี้จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษารุ่นต่อๆ ไป ในการร่วมสร้างสรรค์และยกระดับการศึกษาด้วยนวัตกรรม นำไปสู่การพัฒนาสังคมไทยให้มีความยั่งยืนต่อไป” ดร.เยอร์เกน กล่าวทิ้งท้าย

                                                    ————————————-

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *