ประเทศกลุ่มแม่น้ำโขง สนใจเรียนรู้ Contract Farming โมเดลความสำเร็จพัฒนาภาคเกษตรไทย
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์โมเดลความสำเร็จของระบบคอนแทร็คฟาร์มของภาคเอกชน ที่ช่วยเกษตรกรไทยมากว่า 40 ปี ให้แก่ผู้ร่วมงานทั้ง 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ในงานประชุมนานาชาติ Mekong Hub Knowledge and Learning Fair 2019 จัดขึ้นโดย กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม (IFAD) ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร มกอช. อ.ส.ค. ธ.ก.ส. และ ซีพีเอฟ จัดการประชุมครั้งนี้ขึ้น เพื่อนำองค์ความรู้และประสบการณ์ของไทยไปขยายโอกาสและสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรรายย่อยในประเทศกลุ่มแม่น้ำโขงต่อไป
ดร.ธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงโรม กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในงานประชุมนานาชาติ MKLF 2019 ครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าทั้งประเทศไทย ทั้งองค์กรภาครัฐ สถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือเกษตร และภาคเอกชน เป็นต้นแบบที่ดีของภูมิภาคอาเซียน ในการพัฒนาระบบคอนแทร็คฟาร์มมิ่ง เพื่อช่วยให้เกษตรกรไทยมีอาชีพที่มั่นคงสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน องค์ความรู้ เทคโนโลยี และการตลาด นำไปสู่ความเข้มแข็ง และพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันยังช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ปลอดภัยได้มาตรฐานสากลให้กับคนทั้งประเทศอีกด้วย
IFAD เป็นหน่วยงานหนึ่งของ FAO จัดการประชุม MKLF 2019 ครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาภาคเกษตรระหว่างผู้แทนจากกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ได้แก่ ไทย เวียดนาม สปป.ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา และฟิลิปปินส์ รวมถึงมาเรียนรู้การพัฒนาภาคเกษตรของไทยด้วยการทำงานร่วมกันในรูปแบบสานพลังประชารัฐและการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ตลอดจนการจัดการระบบคอนแทร็คฟาร์มมิ่งที่สร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย และช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตอาหารของไทย
ซีพีเอฟ เป็นภาคเอกชนรายเดียวที่ได้รับเกียรติเข้าร่วมการประชุมนานาชาติดังกล่าว และระบบคอนแทร็คฟาร์มมิ่งของซีพีเอฟได้รับความสนใจจากผู้เข้าประชุม ที่ต่างยอมรับว่าเป็น Model ที่ดีในการพัฒนาภาคเกษตร ซึ่งผู้แทนจากหลายประเทศสนใจจะนำไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารโครงการคอนแทร็คฟาร์มมิ่งในประเทศของตนต่อไป
นายณรงค์ เจียมใจบรรจง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านโครงการพิเศษ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวภายหลังการร่วมแบ่งปันประสบการณ์การบริหารจัดการโครงการคอนแทร็คฟาร์มมิ่งของซีพีเอฟในงาน MKLF 2019 ว่า ระบบคอนแทร็คฟาร์มมิ่งเป็นอีกต้นแบบการพัฒนาภาคเกษตรที่ได้รับการยอมรับมากว่า 100 ปี และซีพีเอฟได้นำมาใช้ในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 40 ปี ซึ่งสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้จริง
“ปัจจุบันซีพีเอฟได้ปรับปรุงสัญญากับเกษตรกรของเราที่มีอยู่ราว 5,500 ราย ให้มีความเป็นสากลมากขึ้นตามแนวทางของ FAO และดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.พัฒนาและส่งเสริมเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560 อย่างเคร่งครัด … ที่สำคัญ ซีพีเอฟ ยังเป็นบริษัทเดียวที่ทำประกันภัยความเสี่ยงด้านภัยพิบัติให้แก่เกษตรกรกลุ่มประกันรายได้อีกด้วย”
โครงการ Contract Farming ซีพีเอฟ มีเป้าหมายเพื่อต้องการสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิต และลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกรในเรื่องต้นทุนการผลิตและการตลาด การทำ Contract Farming จึงต้องเป็นกระบวนการที่ควบคุมได้ทั้งหมดและเป็นความรับผิดชอบต่อส่วนรวม คือ ต่อผู้บริโภค ต่อสังคม และต่อประเทศชาติ กระบวนการทั้งหมดต้อง สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
กลุ่มเกษตรกรของซีพีเอฟ 90% เป็นเกษตรกรในประเภทประกันรายได้ และที่เหลืออีก 10% เป็นกลุ่มประกันราคา ซึ่งเหมาะกับฟาร์มขนาดใหญ่ โดยส่วนใหญ่ร่วมโครงการกับบริษัทมากว่า 10 ปี บางรายอยู่มากว่า 40 ปี ตั้งแต่เริ่มโครงการ มีรายได้ที่สามารถคืนเงินกู้ให้กับสถาบันการเงินตามกำหนดระยะเวลาของโครงการ ขณะเดียวกัน เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการก็มีการขยายงานเพิ่มจำนวนฟาร์มให้มากขึ้นด้วย ตอกย้ำได้ว่า ระบบคอนแทร็คฟาร์มมิ่งสามารถพัฒนาภาคเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ให้มีรายได้ที่มั่นคงยั่งยืน ส่งลูกหลานให้ได้รับการศึกษาที่ดี ได้อย่างเป็นรูปธรรม./