แพทย์ฉุกเฉิน รพ.ราชวิถี แนะ การรับมือ – ช่วยเหลือ – ป้องกัน ระวัง!!! อุบัติเหตุความสูญเสียจากเทศกาลสงกรานต์
“สงกรานต์” นับเป็นช่วงที่มีอุบัติเหตุทางถนนและยอดผู้เสียชีวิตมากที่สุดช่วงหนึ่ง มีรายงานสถิติจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ) ในช่วง 7วันอันตราย เมื่อปีที่ผ่านมา(2561) จะเห็นว่าอุบัติเหตุ เสียชีวิต และบาดเจ็บ เพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านๆมา อุบัติเหตุ 3,724 ครั้ง เสียชีวิต 418 ราย บาดเจ็บ 3,897 คน หรือโดยเฉลี่ยเสียชีวิตในช่วงนี้ปีละ 400 ราย จะเห็นว่าทั้งอุบัติเหตุ ที่ทำให้เสียชีวิตและบาดเจ็บ มีเพิ่มขึ้นทุกปีและปีนี้ (2562) คาดว่าจะมีแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้โดยสาเหตุหลักมาจากพฤติกรมการขับขี่ผิดหลักจราจร ทั้งใช้ความเร็วสูงเกินกำหนด เปลี่ยนช่องทางเดินรถฉับพลัน และสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ดื่มแล้วขับ และยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือรถจักรยานยนต์ รถปิคอัพ การเข้าช่วยชีวิตผู้ได้รับบาดเจ็บ และการเข้าถึงจุดเกิดเหตุด้วยความรวดเร็วจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแต่ละนาทีที่ผ่านไปสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ คือช่วงเวลาระหว่างความเป็นความตาย สิ่งสำคัญสิ่งเดียวที่จะลดโอกาสความสูญเสียในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้ได้คือ การดูแลรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที
เทศกาลสงกรานต์ เป็นเทศกาลแห่งความสุขที่ทุกคนอยากอยู่กับคนที่เรารัก จากบ้านมาทำงานต่างถิ่น ต่างพร้อมใจเดินทางกลับบ้าน เป็นสาเหตุให้การจราจรบนท้องถนนทุกเส้นแน่นขนัดเต็มไปด้วยมวลมหารถ ใช้เวลาเดินทางกันยาวนานกว่าปกติ จุดมุ่งหมายเดียวกันของทุกคน คือบ้านที่ทุกคนรออยู่ แต่บางคนไปไม่ถึงที่หมายนั่นหมายถึง เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนระหว่างเดินทาง จากเทศกาลแห่งความสุขอาจจะกลายเป็นวันแห่งการสูญเสียของครอบครัว บางคนอาจโชคดีที่ไม่เสียชีวิต แต่ไม่ว่าจะเสียชีวิตหรือไม่ก็ตาม ทุกคนล้วนไม่อยากให้เกิดอุบัติเหตุใดๆ อยากเดินทางกันปลอดภัย – เล่นน้ำอย่างสนุก ทั้งนี้อยู่ที่เราต้องมีสติไม่ประมาท ปฏิบัติตามกฎจราจร หรือเมื่อเจอเหตุการณ์ต่างๆก็ไม่เอาตัวเองเข้าไปเสี่ยง รวมถึงหากเราเจออุบัติเหตุต่างๆ เราควรช่วยอย่างถูกต้องถูกวิธี ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเราด้วยที่ต้องรับเคราะห์เพิ่มอีกราย
โรงพยาบาลราชวิถี ได้ร่วมรณรงค์การขับขี่อย่างปลอดภัย – การลดอุบัติเหตุ นำมาซึ่งการบาดเจ็บการสูญเสียชีวิต หรือความพิการ เนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์การเตรียมความพร้อมของทีมแพทย์ แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน พยาบาลทีมสหสาขาวิชาชีพ และรักษาผู้ป่วย เพื่อรับมือกับอุบัติเหตุฉุกเฉินทุกรูปแบบ แนะวิธีรับมือ พร้อมทั้งการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บอย่างถูกวิธี ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิต และลดความสูญเสียในช่วงเทศกาลฯ
เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน เป็นผู้ที่รับหน้าที่หนักสุดเพราะต้องดูแล-ช่วยเหลือ-รักษาผู้ป่วย – ผู้บาดเจ็บ ที่เกิดจากอุบัติเหตุต่างๆ ส่วนใหญ่อุบัติเหตุอันดับ1 เกิดจากการเมาแล้วขับ การไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร และความประมาทจากการใช้รถใช้ถนน โดยสิ่งแรกที่ท่านต้องปฏิบัติคือ การไม่นำตนเองเข้าไปเสี่ยงในอุบัติเหตุหรือภัยต่างๆ การรู้จักระวังตนเองให้ดี เรียนรู้วิธีการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างถูกต้อง เพราะเราไม่สามารถควบคุมผู้อื่นไม่ให้ประมาทหรือทำตามกฎจราจรได้เลย ดังนั้นง่ายๆ ที่เราต้องเตรียมความพร้อมของตัวเราเอง คือ เช็กสภาพรถ ศึกษาเส้นทาง หาข้อมูลเบอร์ฉุกเฉิน มีสติอยู่เสมอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหนื่อยหรือง่วงให้แวะพัก ไม่เล่นมือถือ ต้องไม่ประมาท คาดเข็มขัดนิรภัย สวมหมวกนิรภัย เคารพกฎจราจร ทั้งนี้การขับขี่ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์ควรจะมีน้ำใจให้เพื่อนร่วมทางเสมอ รวมทั้งสภาพอากาศก็เป็นส่วนสำคัญซึ่งเราก็ไม่ควรที่จะร้อนตามสภาพอากาศของบ้านเรา
นอกจากอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนนแล้ว การดูแลบุตร-หลาน ก็เช่นกัน เพราะเดือนเมษายนเป็นช่วงปิดเทอม เด็กๆมักจะพากันไปเล่นน้ำตามคูคลองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัดจะพบมากกว่าในกทม. และจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุดจากสถิติฯ กระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี (2560) เฉลี่ยเด็กอายุ 5-9 ปี จมน้ำเสียชีวิต ร้อยละ 11.4 เด็กเล็ก (อายุ 0-2 ปี) จมน้ำเสียชีวิต 140 คน (ร้อยละ 19.8 ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี) ซึ่งหากทุกคนในครอบครัวช่วยกันระวัง – รับมือ – ช่วยเหลือ- ป้องกันตัวเองและดูแลลูกหลานให้ดี จะได้ไม่เกิดเหตุให้ต้องมาโรงพยาบาล และยังช่วยลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย
อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน รพ.ราชวิถี อาจจะไม่ได้เจอเคสอุบัติเหตุหรือจมน้ำเสียเสียชีวิตมากเท่าต่างจังหวัด แต่เจ้าหน้าที่ แผนกอุบัติเหตุฉุกเฉินของเราทำงานกันอย่างต่อเนื่อง จากการมีเคสอุบัติเหตุที่ต้องออกไปรับถึงสัปดาห์ละ 40-50 เคส ยังไม่รวมกับเคสที่ผู้ป่วยเดินทางมาเองอีก ทั้งนี้ โรงพยาบาลมีพื้นที่อำนวยความสะดวกค่อนข้างจำกัด จึงทำให้เกิดความแออัดที่ห้องตรวจอย่างมาก และขณะนี้รพ.กำลังสร้างอาคารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลฯ เพื่อขยายพื้นที่ในการรองรับ และรักษาผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตเมื่ออาคารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลฯ เสร็จก็จะสามารถเปิดรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น และลดระยะเวลาของการรอรับการรักษาของผู้ป่วยได้
ดังนั้น ขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมบริจาคซื้อเครื่องมือแพทย์ให้กับ อาคารศูนย์การแพทย์ ราชวิถี โดย สามารถร่วมบริจาคได้ที่ ชื่อบัญชี “เงินบริจาคของโรงพยาบาลราชวิถี” หมายเลขบัญชี 051-276128-1 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลราชวิถี หรือ บริจาคเข้าบัญชี “ศูนย์การแพทย์ราชวิถี ในมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลราชวิถี หมายเลขบัญชี 051-2-69056-1 หรือสอบถามโทร 02- 3547997-9 หรือ http://www.rajavithihospitalfoundation.org