ซีพีเอฟ ยกย่อง “คู่ค้าธุรกิจดีเด่น” ร่วมพัฒนาห่วงโซ่อุปทานตามมาตรฐานสากลสู่การผลิตอย่างยั่งยืน
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มอบเกียรติบัตร แก่ 12 “คู่ค้าธุรกิจดีเด่น” ที่ร่วมสร้างคุณค่าในห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) พร้อมเดินหน้าพัฒนาคู่ค้ากว่า 200 รายใน 13 กลุ่มธุรกิจหลัก สร้างความมั่นคงทางธุรกิจและฐานการผลิตอาหารตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs)
นายพิสิฐ โอมพรนุวัฒน์ ประธานคณะทำงานบริหารความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ มุ่งมั่นร่วมพัฒนาคู่ค้าธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นทางให้เติบโตไปด้วยกัน ภายใต้นโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืนของซีพีเอฟ เพื่อร่วมกันผลิตสินค้าด้วยความรับผิดชอบใน 4 ด้านหลัก (4 Ps) ประกอบด้วย การส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ (Product) การปฏิบัติต่อบุคลากรอย่างเป็นธรรมตามสิทธิมนุษยชน (People) การใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Process) และมีระบบการบริหารงานอย่างโปร่งใส (Performance)
ปีที่ผ่านมา ซีพีเอฟจัดทำระบบตรวจประเมินตนเองด้านความยั่งยืนแบบออนไลน์ (Online Supplier Sustainability Self-Assessment) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากคู่ค้าธุรกิจเพื่อนำผลการประเมินเป็นแนวทางพัฒนากระบวนการผลิตและบริการให้สอดคล้องตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และในปีนี้ ซีพีเอฟได้มอบเกียรติบัตร “คู่ค้าธุรกิจดีเด่น” แก่ 12 คู่ค้า ที่ร่วมมือกันสร้างคุณค่าในห่วงโซ่อุปทาน และความยั่งยืนให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป็นแบบอย่างในการจัดหาและส่งมอบวัตถุดิบจากแหล่งผลิตต้นทางที่ถูกต้อง ส่งเสริมการผลิตอย่างยั่งยืน มีการดูแลบุคลากรขององค์กรตามมาตรฐานสากล ตลอดจนช่วยกันดูแลเกษตรกรเติบโตร่วมกัน
“เกียรติบัตรคู่ค้าธุรกิจดีเด่น เป็นการยกย่องและแสดงความขอบคุณคู่ค้าธุรกิจที่ร่วมมือกันพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายนโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืนของซีพีเอฟ ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดถ่ายทอดองค์ความรู้สู่คู่ค้าธุรกิจกว่า 200 รายการใน 13 กลุ่มธุรกิจหลักของซีพีเอฟ เพื่อยกระดับมาตรฐานห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรและอาหาร ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงทางอาหารและความสมดุลธรรมชาติ” นายพิสิฐกล่าว
ด้าน นายมโนชญ์ แสงแก้ว ผู้ตรวจราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหาร ต้องคำนึงถึงกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงาน ซึ่งเป็นข้อกำหนดและเงื่อนไขสำคัญในการเจรจาบนเวทีการค้าโลก กระทรวงแรงงานมีนโยบายส่งเสริมให้ภาคเอกชน ร่วมมือกันยกระดับผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินงานสอดคล้องตามมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า และรับมือกับความท้าทายในอนาคตได้
“ความร่วมมือของทุกฝ่ายจะช่วยขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานอาหารมีการดำเนินงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกคนในสังคมได้อย่างครอบคลุมและเท่าเทียมกัน นำไปสู่ความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมอาหารไทยบนเวทีการค้าโลกควบคู่กัน” นายมโนชญ์กล่าว.