เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคารที่ทำการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) โดยสถาบันด้านการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ (Maritime and Logistics Institute : MLI)ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสนับสนุนการก้าวเป็นท่าเรือสีเขียวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 3 หน่วยงานร่วมลงนาม ประกอบด้วย นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ การท่าเรืแห่งประเทศไทย( กทท.)นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน (พพ.)และนายรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(บอก.) โดยมีนายนันทนิษฎ์ วงศ์วัฒนา รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นายธาดา วรุณโชติกุล ผู้จัดการโครงการ Net Zero และเรือโท ศิรรินทร์ ชัยสินอัครยศ ผู้อำนวยการสถาบันด้านการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ ร่วมเป็นสักขีพยานฯ
ผู้อำนวยการ กทท. เปิดเผยว่า “กทท. ในฐานะหน่วยงานภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงคมนาคมที่ดำเนินกิจการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ มีภารกิจสำคัญในการพัฒนาองค์กรควบคู่ไปกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อมโดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการขนส่งอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงเกิดเป็นความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำของประเทศไทยในครั้งนี้
สำหรับการลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งนี้ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนเพื่อมุ่งสู่การเป็นท่าเรือคาร์บอนต่ำและปลอดคาร์บอน ร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการประเมินคาร์บอนสำหรับภาคการขนส่งร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ทั้งนี้เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ กระบวนการ เครื่องมือในการบริหารจัดการด้านใช้พลังงานทดแทนให้กับ กทท. รวมทั้งร่วมผลักดันโครงการ Decarbonization การสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำ มุ่งใช้เทคโนโลยีสะอาด ประหยัดพลังงาน พร้อมเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในท่าเรือและพื้นที่โดยรอบเพื่อสร้างท่าเรือ
สีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายของ กทท. ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2030 ให้ได้ 10% และก้าวสู่การเป็น Carbon Neutral Port ภายในปี 2050 โดยยังคงคำนึงถึงความถาวรและความยั่งยืน เพื่อนำไปสู่สังคมปลอดคาร์บอนร่วมกัน”
ทั้งนี้โดยภายใต้ MOU ฉบับนี้ พพ. จะดำเนินการส่งเสริมการศึกษาวิจัยและเสริมสร้างความรู้ด้านการใช้พลังงานสะอาดและพลังานทดแทนให้กับพนักงาน กทท. ประชาชน ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในภาคการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ โดยการจัดกิจกรรมด้านการประชาสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของ กทท. ทั้งการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมสนับสนุนทางธุรกิจ การจัดนิทรรศการ ตลอดจนกิจกรรมทางวิชาการอื่น ๆ ทั้งระดับชาติและนานาชาติ
ส่วน อบก. จะพัฒนาหลักสูตรร่วมกับ กทท. ในการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญด้านการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับภาคการขนส่งตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคการขนส่งด้วย
สำหรับการลงนาม MOU ระหว่าง กทท. พพ. และ อบก. นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการบริหารจัดการและกำกับดูแลองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อก้าวเป็นท่าเรือสีเขียวแล้ว ยังเป็นการผสานความร่วมมือขับเคลื่อนธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม และยืนยันในเจตนารมณ์ร่วมกันของทั้ง 3 หน่วยงาน ในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065 สอดคล้องตามเป้าหมายของประเทศ และเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN)
นอกจากนี้สำหรับโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กทท. ได้มีความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในการจัดทำโครงการจัดการพลังงานไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าหลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะเวลาโครงการ 25 ปี ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 9,741.71 tCO2/ปี เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ปริมาณ 463,891 ต้น/ปี สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงทั้งโครงการ 243,542.64 tCO2
รวมถึงได้ดำเนินโครงการสนับสนุนโครงการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) ร่วมกับภาคเอกชน บริษัท เวคิน (ประเทศไทย) จำกัด ในการส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญและประโยชน์ของแพลตฟอร์มการออกใบเสร็จคาร์บอน (e-Carbon Receipt) ผ่านเว็บไซต์ของ กทท. เพื่อให้ผู้ประกอบการรับทราบค่าการปล่อยคาร์บอนในกิจกรรมต่าง ๆ อันเป็นการสร้างความตระหนักรู้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอนในภาพรวมของประเทศ สนับสนุนการลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกและโลจิสติกส์ของประเทศไทยในภาพรวมอีกด้วย
———————————————