ประธาน กสว. เผยนโยบายการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทำประโยชน์รอบด้าน พร้อมวาระและแผนงานเร่งด่วนตอบโจทย์ประเทศ

.

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์” เปิดเวที กสว. พบสื่อมวลชน มุ่งสร้างความสัมพันธ์อันดี ร่วมกันทำประโยชน์เพื่อสังคม พร้อมชี้ทิศทางก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ที่ตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาล สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

.

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. นำโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) นำเสนอนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนประเทศด้วยระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่ตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาล สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ผ่านงาน “กสว. พบปะสื่อมวลชน : ก้าวต่อไปสู่การขับเคลื่อนระบบ ววน.ของประเทศ” พร้อมแนะนำคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ชุดใหม่ กับสื่อมวลชน เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี ให้เกิดพันธมิตรทางการสื่อสาร ร่วมกันมุ่งสร้างประโยชน์ต่อสังคมในระยะยาว

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลให้ความสนใจที่จะนำวิจัยมาใช้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ รวมถึงได้มีการปฏิรูประบบการอุดมศึกษาวิจัยของประเทศ ทำให้การวิจัยมีความชัดเจนมากขึ้น มีการเพิ่มทรัพยากรในการวิจัย และการขยายตัวของนักวิจัย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นผลมาจากการปฏิรูป ซึ่งกองทุน ววน. นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการปฏิรูปครั้งนี้ รวมถึงการดูแลส่งเสริมกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และศาสตร์ในทุก ๆ ด้านอีกด้วย

“เรามีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ขับเคลื่อนนโยบายและที่สำคัญ คือ มีกองทุน ววน. เป็นเครื่องมือในการที่จะจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณของประเทศ เข้าไปช่วยในการดำเนินการในมิติต่าง ๆ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นช่วยทำให้ประเทศมีความชัดเจนว่าจะทำวิจัยในด้านใด และเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง ด้วยการให้กองทุน ววน. เข้าไปสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ตามนโยบายและทิศทางที่ทางสภานโยบายได้กำหนดไว้”

ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การวิจัยและนวัตกรรมจะสามารถสร้างรายได้ ถ้าเรามีผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้อาจเป็นในด้านของการชุมชน ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง หรือทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ โดยรายได้         ที่ได้มานั้นประชาชนก็จะได้รับประโยชน์โดยตรง เราก็จะสามารถทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ทรัพยากรดีขึ้น

น้ำสะอาด ขยะลดลง ช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เราสามารถจะทำให้เกิดการเดินทางที่มีความสะดวกปลอดภัยมากขึ้น อุบัติเหตุในท้องถนนลดลง ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งการทำให้มีระบบในการนำเอาความรู้เหล่านี้มาใช้เป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างมาก เราจำเป็นจะต้องผสมผสานศาสตร์ในทุก ๆ ด้านรวมกัน ไม่ใช่เฉพาะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นเรื่องสังคม สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

ดังนั้น สกสว. ต้องการที่จะส่งเสริมให้นักวิชาการในแต่ละด้านได้มาทำงานร่วมกัน และที่สำคัญนักวิชาการไม่ได้ทำงานกับเฉพาะนักวิชาการเท่านั้น แต่ต้องทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือสื่อมวลชน ซึ่งอาจจะรวมทั้งกลไกในระดับภูมิภาคและในระดับนานาชาติอีกด้วย

สำหรับ 5 Roadmap ตอบโจทย์ประเทศ ตรงความต้องการ เพื่อมุ่งเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ พัฒนาประเทศมั่นคง ประกอบด้วย

1. วิจัยตอบโจทย์ปัญหาสำคัญและการพัฒนาประเทศ (ระยะสั้น กลาง ยาว) เช่น การจัดการฝุ่น เพื่อทราบที่มาของฝุ่นที่แท้จริง พัฒนาพันธุ์พืชและวิธีเพาะปลูก ลดการเผา คิดค้นเครื่องมือ พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ใช้ดาวเทียมและเซ็นเซอร์ภาคพื้นดินและอากาศในการตรวจสอบและจัดการฝุ่น และการจัดการน้ำ พัฒนางานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งของประเทศ เทคโนโลยีเพื่อให้มีน้ำพอเพียงสำหรับการเกษตรและอุตสาหกรรม

2. พัฒนาแหล่งรายได้ใหม่ สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศ เช่น การใช้ 5G และ AI ยกระดับงานวิจัยด้านการแพทย์ เกษตร และยานยนต์สมัยใหม่ ระบบการแพทย์ทางไกล วินิจฉัย รักษา ส่งมอบยา เกษตรแม่นยำ ด้วยเซนเซอร์และโดรน ที่อัพเดทข้อมูลและพยากรณ์การทำเกษตรอย่างแม่นยำ รวมถึงรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่ขับขี่ได้ด้วยตนเอง ปลอดภัย ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

3. พัฒนากำลังคนและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย เน้นการดูแลสุขภาพชิงป้องกัน และเมื่อเจ็บป่วยสร้างโอกาสในการทำงานที่เหมาะสมส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานของผู้สูงอายุ สนับสนุนการมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่

4. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ การเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม อาทิ พัฒนานวัตกรรมด้านอาหารและสารอาหารเพื่อคนไทย ลดปัญหาโภชนาการและปัญหาสุขภาพ

 5. สร้างระบบดูแลนักวิจัย และหนุนเสริมทำงานแบบครบวงจร การบริหารจัดการโครงการสมัยใหม่ พัฒนาระบบสำหรับนักวิจัย หรือ Tracking System ช่วยให้กระบวนการขอทุนวิจัยเป็นไปอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และไปร่งใส เอื้อต่อการติดตาม ตั้งแต่การยื่นข้อเสนอ ไปจนถึงการได้รับการอนุมัติหรือปฏิเสธ

              สำหรับคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ชุดใหม่ประกอบด้วย นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) / นายวิโรจน์ นรารักษ์ ผู้แทนสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ / นายยุทธนา สาโยชนกร ผู้แทนสำนักงบประมาณ / นางภัทรพร วรทรัพย์ ผู้แทนอธิบดีกรมบัญชีกลาง / ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้แทนหน่วยงานในระบบ ววน. ที่ไม่สังกัดกระทรวง อว. / รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้แทนหน่วยงานในระบบ ววน. ที่สังกัดกระทรวง อว. / ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา / ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านวิทยาศาสตร์ / รศ.ดร.วีรพงษ์ แพสุวรรณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านวิทยาศาสตร์ / ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านมนุษยศาสตร์ / ศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสังคมศาสตร์ และ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กรรมการและเลขานุการ

                                                          —————————————–

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *