กรุงเทพฯ – สถาบันวิจัยมิตซูบิชิ (Mitsubishi Research Institute: MRI) และบริษัทโบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาในการวิจัยด้านการค้า การลงทุน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้ริเริ่มการศึกษาครั้งสำคัญในหัวข้อ “ประเด็นด้านสังคมของประเทศไทย (Thailand’s Societal Issues) และโอกาสในการแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน”
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เน้นย้ำความสำคัญประเด็นท้าทายด้านสังคมที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันผ่านการทำงานร่วมกัน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การนำเสนอกลยุทธ์และโอกาสในการบริหารจัดการความท้าทายที่เกิดขึ้น รวมถึงการอภิปรายร่วมกันในประเด็นปัญหาทั้ง 6 ข้อ ประกอบด้วย 1) ความเป็นอยู่ที่ดี 2) การป้องกันภัยพิบัติและสาธารณูปโภค 3) การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 4) น้ำและอาหาร 5) การคมนาคมขนส่ง และ 6) พลังงานและสิ่งแวดล้อม
นางสาวเอริ ทามากวะ นักวิจัยของสถาบันวิจัยมิตซูบิชิ นำเสนอภาพความท้าทายที่ทับซ้อนกันระหว่างไทยและญี่ปุ่น โดยนำเสนอให้เห็นถึงแนวทางของญี่ปุ่นในการรับมือกับปัญหาประชากรสูงวัย อุปสรรคทางเศรษฐกิจ และประเด็นปัญหาอื่นๆ ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ภายใต้บริบทการดำเนินดังกล่าว ญี่ปุ่นจึงเป็นประเทศที่สามารถเป็นผู้นำด้านความคิด การออกแบบนโยบาย และสร้างนวัตกรรมในการแก้ปัญหาทางสังคม
โครงการ “นวัตกรรมเพื่อสร้างอนาคตร่วมกัน” (Initiative for Co-Creating the Future: ICF) เป็นนวัตกรรมที่สถาบันวิจัยมิตซูบิชิพัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือของภาคธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ และชุมชน เพื่อจัดการกับความท้าทายด้านสังคมและด้านอื่นๆ โครงการ ICF ได้สร้างเครือข่ายสำหรับบุคคลเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิธีการทางธุรกิจ และเผยแพร่ผลการศึกษาเรื่อง “การแก้ปัญหาทางสังคมผ่านนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง (Resolving Societal Issues Through Innovation-Listings of Societal Issues)” เพื่อระบุและประเมินผลกระทบของประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
กระบวนการนี้ นอกเหนือไปจากการใช้เพื่อรับมือกับปัญหาความท้าทายที่เฉพาะเจาะจงของประเทศญี่ปุ่น เช่น ความท้าทายของอุปทานด้านอาหาร ปัญหาด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ยังสามารถนำไปปรับใช้กับด้านอื่นๆ ได้ตามที่เหมาะสม คุณเอริกล่าวว่า “กลยุทธ์ของ ICF แม้ถูกสร้างขึ้นด้วยบริบทเฉพาะของญี่ปุ่น แต่ก็สามารถนำไปปรับใช้และเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสถานการณ์ของประเทศไทยได้”
ความท้าทายของสังคมไทยในทศวรรษถัดไป
ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัย โดยมีประชากรมากถึงร้อยละ 30 ที่คาดว่าจะเข้าเกณฑ์ของการเป็นผู้สูงวัยภายในปี 2579 ซึ่งจะทำให้ประเทศกลายเป็นสังคมสูงวัยสุดขั้ว (Super-aged Society) ในขณะเดียวกัน แม้ว่าประเทศไทยจะมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและมีรายได้ต่ำยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ยา และบริการทางการแพทย์ต่างๆ
สังคมผู้สูงวัยมาพร้อมกับอายุเฉลี่ยของแรงงานที่สูงขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยยังมีการปรับใช้เทคโนโลยีในระดับต่ำ และมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ขาดประสิทธิภาพ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนสร้างผลกระทบเชิงลบต่อผลิตผลในภาคเกษตรกรรม นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องระมัดระวังที่จะเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอาหารและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้
ประเทศไทยนอกจากจะมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น ยังมีอัตราการเกิดของประชากรอยู่ในจุดต่ำสุดเมื่อเทียบกับช่วง 6 ทศวรรษก่อนหน้า โดยที่อัตราการเกิดลดลงจาก 1 ล้านคน มาอยู่ที่ 500,000 ถึง 600,000 คนต่อปี อัตราการเกิดที่ลดลงนี้ทำให้ต้องมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นเพื่อรักษาระดับของทุนมนุษย์ให้คงเดิม การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะเป็นประเด็นหลักที่ต้องได้รับการปรับปรุงและพัฒนา เพื่อที่จะยกระดับขีดความสามารถของประชากรและผลิตผลของประเทศต่อไป
ภาวะโลกร้อนได้กลายมาเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบในหลายภาคส่วน ทั้งการบริหารจัดการภัยธรรมชาติ การคมนาคมขนส่ง พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติที่รุนแรง เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า และพายุ ส่งผลกระทบเชิงลบที่รุนแรงต่อคนในประเทศ ความท้าทายนี้ไม่เพียงแต่ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการป้องกันและรับมือมากยิ่งขึ้น แต่ยังต้องกระตุ้นให้เกิดการเห็นพ้องของสังคมในการเตรียมพร้อมรับมือเพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อภาคประชาชน
ปัญหาที่เชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การคมนาคมขนส่ง ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ชั้นนำมาเป็นเวลานาน และเป็นประเทศที่มีการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากที่สุดประเทศหนึ่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน พ.ศ. 2608 การลดจำนวนยานยนต์ประเภทสันดาปได้กลายเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าในการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องด้วยปัจจัยท้าทายต่างๆ เช่น ราคาที่เข้าถึงได้ยาก เครือข่ายสาธารณูปโภคที่ยังไม่เพียงพอ และความตระหนักรู้ของคนในสังคม ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเตรียมพร้อมคนในสังคมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนผ่าน และผลักดันการลงทุนในการขนส่งสาธารณะเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงให้การคมนาคมขนส่งทุกรูปแบบ
นอกเหนือจากภาคขนส่ง ภาคพลังงานเป็นภาคส่วนหลักที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของไทย และเป็นภาคส่วนที่ถูกเร่งผลักดันให้ลดการสร้างมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปลี่ยนผ่านสถานะการใช้พลังงานให้สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงมีความมั่นคงทางพลังงานและการบริหารจัดการการใช้พลังงานที่เหมาะสม อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่มีประสิทธิภาพต่อไป
นายเคนนิชิโร่ ยามากูชิ นักวิจัยของสถาบันวิจัยมิตซูบิชิ ได้เน้นย้ำถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขวิกฤติสภาพอากาศ โดยกล่าวว่า “ไม่ใช่เพียงแต่ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องเปลี่ยนแปลง พวกเราทุกคนตั้งแต่ในระดับบุคคลไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ต้องมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้” ในระยะยาว องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัว โดยเริ่มต้นจากการปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในองค์กร อย่างไรก็ตาม องค์กรอาจมีความยากลำบากในการระบุความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น เครื่องมือต่างๆ เช่น การเปิดเผยข้อมูลภายใต้กรอบ TCFD จะช่วยให้บุคคลและองค์กรต่างๆ เข้าใจบริบทภายในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะเดียวกัน ยังเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อให้องค์กรตระหนักถึงโอกาสในการเติบโตและขอบเขตที่ปรับปรุงพัฒนาได้ อันจะนำไปสู่แนวปฏิบัติที่ยั่งยืนต่อไป
ดร. ลิม โพ ซุน ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจโลก สถาบันวิจัยมิตซูบิชิ ได้เน้นย้ำว่านับจากในอดีตจนถึงปัจจุบัน ความสัมพันธ์ของไทยและญี่ปุ่นอยู่ในลักษณะของความสัมพันธ์ทางเดียว กล่าวคือ “จากญี่ปุ่นถึงไทย” แต่นับจากนี้ เขาคาดหวังที่จะเห็นความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนในลักษณะของการร่วมมือกัน และเชื่อว่าการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการดังกล่าว โดยนายโซอิชิ นาคาจิม่า หนึ่งในตัวแทนสถาบันวิจัยมิตซูบิชิ ได้นำเสนอรูปแบบของความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นผ่านกรณีศึกษาต่างๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นภาพความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้น
ดร. รัชดา เจียสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) บริษัทที่ปรึกษาที่ให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐ ที่มีประสบการณ์ยาวนาวกว่า 10 ปี ด้วยความเชี่ยวชาญในการวิจัยด้านการค้า การลงทุน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สรุปใจความสำคัญที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการโดยเน้นย้ำถึงโอกาสที่มาจากการหารือร่วมกันว่า “กิจกรรมนี้ไม่ได้เพียงแต่ช่วยประมวลความท้าทายที่เรากำลังเผชิญอยู่ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่ช่วยนำเสนอรูปแบบที่ภาคธุรกิจสามารถเข้ามาเป็นผู้แก้ปัญหาได้” นอกจากนี้ ยังได้ข้อสรุปว่าว่าการแก้ปัญหาจะเกิดผลดียิ่งขึ้นหากรัฐบาลให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน แทนที่จะดำเนินการด้วยตัวเองเพียงฝ่ายเดียว การร่วมมือกันไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างตลาดและพัฒนาระบบนิเวศให้ผู้ประกอบการ แต่ยังช่วยให้ภาครัฐสามารถบรรลุเป้าหมายแห่งความยั่งยืนได้พร้อมๆ กัน
การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้เป็นมากกว่าการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่เป็นสัญลักษณ์ของความหวัง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความร่วมมือ อีกทั้งยังเป็นหลักฐานของการดำเนินการร่วมกันบนพื้นฐานของการพัฒนาความเชี่ยวชาญ และนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำประเทศไปสู่จุดหมายที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป
—————————————————–