เกษตรกรแท็กทีมขอบคุณ “รมว.เกษตรฯ และกรมปศุสัตว์” ปราบหมูเถื่อนต่อเนื่อง มั่นใจอีกไม่นานได้เห็นตัวบงการ  

ผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศประสานเสียงขอบคุณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ – กรมปศุสัตว์ หลังเดินหน้าปราบปราม “หมูเถื่อน” ต่อเนื่องและจริงจัง ล่าสุด สามารถฝังทำลายหมูเถื่อนของกลางจำนวนถึง 723,786 กิโลกรัม มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ตัดตอนวงจรหมูเถื่อนที่เกาะกินทำร้ายทำลายเกษตรกรไทยมานานนับปี ส่งผลเกษตรกรมั่นใจลงหมูเข้าเลี้ยงเร่งเพิ่มผลผลิตหมูปลอดภัยเพื่อคนไทย พร้อมฝากความหวังเดินหน้าจับ “ผู้บงการ” ล้างบางขบวนการนำเข้าหมูผิดกฏหมายให้สิ้น 

            นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า การติดตามการปราบปรามหมูเถื่อนอย่างใกล้ชิดของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งผลให้กรมปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สามารถปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีกับผู้กระทำได้อย่างคล่องตัว ผลงานการปราบปรามชัดเจนเป็นที่ประจักษ์ถึงกว่า 1 ล้านกิโลกรัม ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้หมูอันตรายเหล่านี้ปะปนเข้าสู่ตลาดทำลายกลไกราคาสุกรในประเทศ และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาด ASF ลงได้อย่างมาก  รวมถึงเป็นการปกป้องผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากสารปนเปื้อนอันตรายในหมูเถื่อนด้วย ในนามของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูขอชื่นชมและขอบคุณท่านรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ท่านอธิบดีกรมปศุสัตว์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ได้ประสานความร่วมมือกันจนนำไปสู่ความสำเร็จ และฝังทำลายหมูเถื่อนได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในครั้งนี้ ฝากความหวังให้ทุกภาคส่วนยังคงเดินหน้าปราบปรามต่อเนื่องเชื่อว่าอีกไม่นานจะสามารถจับกุมผู้บงการและทำลายล้างขบวนการนี้ได้อย่างถอนรากถอนโคน 

          นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า การกำจัดขบวนการหมูเถื่อนที่กรมปศุสัตว์ดำเนินการอย่างเข้มข้น ส่งผลให้ราคาสุกรในประเทศเริ่มคงที่ นับเป็นภารกิจที่กระทรวงเกษตรฯ ให้การดูแลปกป้องเกษตรกรได้สำเร็จ ซึ่งต้องขอขอบคุณเป็นอย่างสูง สิ่งนี้ช่วยสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรในภาคอีสาน กล้าที่จะลงหมูเข้าเลี้ยง ลดความกังวลเกี่ยวกับราคาที่ตกต่ำลงในช่วงที่มีหมูเถื่อนระบาดอย่างหนัก รวมถึงความกังวลด้านโรคระบาดที่อาจติดมากับหมูเถื่อน โดยขณะนี้ สถานการณ์การเลี้ยงหมูในภาคอีสานมีผลผลิตแมพันธุ์อยู่ในระดับ 70% แล้ว เมื่อมีแนวโน้มการจัดการที่ดีเช่นนี้คาดว่าปริมาณแม่พันธุ์จะเพิ่มเป็น 90% ได้ภายในสิ้นปีนี้ การกำจัดอุปสรรคด้านหมูเถื่อนที่เข้ามาเบียดเบียนตลาดหมูของเกษตรกรไทย นับว่าช่วยให้เกษตรกรเกิดกำลังใจในการเลี้ยงหมู แม้จะมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่แพงขึ้นก็ตาม

          นายสุนทราภรณ์ สิงห์เสรีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่า หมูเถื่อนที่จับกุมได้ตลอดปี 2565 มีมากถึงกว่า 1 ล้านกิโลกรัม ไม่รู้ว่าเข้ามายังราชอาณาจักรไทยมากมายขนาดนี้ได้อย่างไร และส่วนใหญ่ขนส่งกันมาเป็นตู้คอนเทนเนอร์จากแดนไกล แถบอเมริกาใต้และยุโรป เช่น บราซิล เยอรมนี อิตาลี สามารถผ่านด่านศุลกากรเข้ามาได้ แสดงว่าผู้บงการที่อยู่เบื้องหลังน่าจะมีอิทธิพลพอควรทีเดียว ต้องชื่นชมการทำงานของกรมปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ทุกท่านอย่างมากที่กล้ากวาดล้าง และรักษาไว้ซึ่งกฏหมายบ้านเมือง ปกป้องทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากผลกระทบมากมายของหมูเถื่อน

          ด้าน นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ ระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์หมูเถื่อน ในพื้นที่ลดลงพอสมควร ซึ่งต้องขอบคุณกรมปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะนี้ชายแดนปีนังมาเลเซีย กำลังเกิดการระบาดของโรค ASF การจับกุมหมูเถื่อนเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยป้องกันเชื้อดังกล่าว ควบคู่ไปกับมาตรฐานการเลี้ยงหมูในพื้นที่ที่เน้นการป้องกันโรคอย่างรัดกุมมาโดยตลอด ขณะที่เกษตรกรมีความมั่นใจในการเลี้ยงหมูมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณสุกรในพื้นที่เพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ดี ที่ระดับ 80,000-90,000 แม่พันธุ์แล้ว

อนึ่ง ผลงานในปี 2565 ที่กรมปศุสัตว์ได้สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และกรมศุลกากร ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย กรณีหมูเถื่อน มีจำนวนรวม 42 คดี ปริมาณน้ำหนักรวม 1,089,514 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 219  ล้านบาท โดยได้ดำเนินการกับซากสุกรของกลางเป็น 3 ส่วนได้แก่ 1.) เป็นส่วนที่ทำลายไปแล้ว จำนวน 179,612 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 71 ล้านบาท 2.) อยู่ในระหว่างดําเนินคดี จำนวน 186,116 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 25 ล้านบาท เมื่อคดีสิ้นสุดจะได้ดำเนินการทำลายต่อไป และ 3.) เป็นหมูเถื่อนที่เพิ่งทำลายไปเมื่อวันที่ 12 มค.2566 จำนวน 723,786 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า  123 ล้านบาท

                             ———————————

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *