ต้นทุนถาโถมทำราคาหมูขยับ ต้องใช้ “กลไกตลาด” ขับเคลื่อนสู่สมดุล

สถานการณ์ราคาหมูเข้าสู่ภาวะวิกฤตอีกครั้ง เมื่อภาครัฐลอยตัวน้ำมันดีเซล ส่งผลค่าขนส่ง ค่าน้ำ-ค่าไฟซ้ำเติมกดดันอาชีพคนเลี้ยงหมู หลังช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาต้องเผชิญปัญหาโรคระบาด ASF ทำให้ปริมาณผลผลิตหมูหายไป พร้อมๆกับจำนวนเกษตรกรที่ลดลงกว่า 50%  ปัจจุบันคนเลี้ยงหมูยังคงเผชิญสถานการณ์ต้นทุนทุกทางที่ถาโถมเข้าใส่อาชีพเลี้ยงหมูอย่างหนัก เป็นเหตุให้ราคาต้องขยับตามต้นทุนที่เกิดขึ้น แม้ผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศจะพร้อมใจกันรักษาระดับราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มไว้ที่ 100 บาท/กก.แต่จะทำได้ในระยะเวลาเท่าใด ขึ้นอยู่กับแนวโน้มของปัจจัยทุกข้อที่เกี่ยวข้อง 

ป้องกันโรค ต้นทุนแรกที่จำเป็น

กรมปศุสัตว์ เป็นหน่วยงานรัฐที่สำคัญมากในการร่วมมือกับทุกภาคส่วนควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด ซึ่งต้องทำการยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงหมูปลอดโรคพร้อมสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพการเลี้ยงหมูอย่างยั่งยืน ผ่านระบบ “ฟาร์มมาตรฐาน” ที่คำนึงถึงการผลิตอาหารปลอดภัย ปราศจากโรค และดีต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ต้นทุนการทำฟาร์มมาตรฐานเหล่านี้ ใช้งบประมาณไม่น้อย และเป็นสิ่งจำเป็นที่เกษตรกรต้องลงทุน เพื่อให้สามารถเลี้ยงหมูให้อยู่รอดปลอดภัย ไม่ถูกโรคร้ายทำลายให้ตายไปเสียก่อน

พันธุ์หมูมีน้อย-หายาก ต้นทุนค่าพันธุ์สัตว์ที่ต้องจ่าย

ในช่วงเมษายน 2565 ข้อมูลประชากรแม่พันธุ์หมูคงเหลือหลัง ASF ระบาดมีอยู่ 1,055,499 ตัว หายไปค่อนข้างมาก ทำให้ผลผลิตลูกหมูมีน้อย ส่งผลถึงปริมาณหมูขุนที่มีอยู่เพียง 9,005,141 ตัว เมื่อหมูมีน้อย ราคาพันธุ์หมูจึงสูงขึ้นตามหลักดีมานด์ซัพพลาย 

ข้าวโพด ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่แสนแพง

สงครามยูเครน-รัสเซียที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้คนเลี้ยงหมูต้องกระอักกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด กากถั่วเหลือง รำข้าว และธัญพืชทุกชนิด หลังจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้นมาตลอดตั้งแต่เดือน มีนาคม 2563 เรียกว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ได้ส่งสัญญาณไปยังกระทรวงพาณิชย์มาเป็นเวลากว่า 1 ปี กระทั่งเพิ่งได้ข้อสรุปเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าช้าเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำกัดมาตรการช่วยเหลือไว้เพียง 3 เดือน

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกล่าวถึง การจัดหาวัตถุดิบข้าวโพดตามที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) มีมติอนุมัติให้นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ 1.2 ล้านตัน ภายในระยะเวลา 3 เดือน หรือสิ้นสุดที่เดือนกรกฎาคม 2565 นั้น ไม่ทันกับการแก้ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและมีราคาแพง เพราะกว่าจะมีการสั่งซื้อ และนำเข้ามาใช้ได้จริง ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือน  ดังนั้น ในระยะ 2 เดือนนี้จึงไม่มีผลใดๆ ต่อการช่วยลดต้นทุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เกษตรกรเลย 

ค่าพลังงานไฟฟ้า-น้ำมัน ทุบซ้ำต้นทุนเลี้ยงหมู

ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้นมีผลต่อค่าไฟฟ้าภายในฟาร์มและค่าขนส่ง ทำให้ต้นทุนการผลิตหมูสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เช่น ภาคเหนือและภาคอีสาน จะมีค่าขนส่งที่แพงกว่า ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายยิ่งขึ้น

สภาพอากาศร้อนแล้ง-เปลี่ยนแปลงบ่อย ต้นทุนประสิทธิผลที่ถดถอย

ภาคเกษตรปศุสัตว์ หรือการเลี้ยงสิ่งมีชีวิตอย่างหมูนั้น เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศอย่างมาก โดยเฉพาะอากาศที่ร้อน แล้ง เปลี่ยนแปลงบ่อย สุกรจะกินอาหารน้อยกว่าปกติ ทำให้หมูโตช้า ไม่มีประสิทธิผลการเลี้ยงที่ดีเท่าที่ควร และเกษตรกรยังต้องเลี้ยงหมูนานขึ้น ทำให้ต้นทุนอาหารและน้ำในช่วงหน้าร้อนสูงกว่าปกติด้วย   

การแก้ปัญหาราคาสินค้าจำเป็นต้องปล่อยให้ “กลไกตลาด” เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนให้ทุกอย่างเข้าสู่จุดสมดุล ดังที่ช่วงมกราคม 65 ราคาหมูพุ่งสูงมากจนทำให้ผู้บริโภคหันไปเลือกซื้อโปรตีนชนิดอื่นทดแทน ต่อมาราคาหมูก็ลดลงเข้าสู่ระดับที่เหมาะสม เกษตรกรอยู่รอด ผู้บริโภคอยู่ได้ ครั้งนี้ก็เช่นกัน … รัฐควรปล่อยกลไกตลาดทำงาน และส่งเสริมการกลับเข้าสู่อาชีพของคนเลี้ยงหมู เมื่อปริมาณผลผลิตสอดคล้องความต้องการบริโภค ราคาหมูจะอยู่ในจุดที่เหมาะสมได้เอง ./

โดย สมคิด เรืองณรงค์

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *