“วราวุธ” เร่งนำ โมเดล BCG แก้ปัญหาความยากจน นายนโยบายนายก”ประยุทธ์” สั่งกรมป่าไม้ลุยเพาะเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซาในกล้าไม้วงศ์ยาง ด้านกรมป่าไม้รับลูกพร้อมดำเนินการ เพาะเห็นในส่วนป่าสร้างรายได้ให้ประชาชนเป็นอย่างดี เกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อสำนักวิจัยฯกรมป่าไม้ได้
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายการขับเคลื่อน BCG เป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้มอบหมายให้กรมป่าไม้ คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่ากล้าไม้เศรษฐกิจที่แจกจ่ายให้กับประชาชน ด้วยการผสมเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซาในกล้าไม้วงศ์ยาง ซึ่งเป็นเพิ่มมูลค่าได้ทั้งพื้นที่ป่าและได้ทั้งเห็ด เป็นการสร้างรายได้และแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี
ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้เน้นย้ำถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทส. แก่ทุกหน่วยงานในสังกัด ทส. ให้เร่งรัดการ ดำเนินงานด้านต่างๆ ของกระทรวงฯ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับพี่น้องประชาชน โดยมอบหมายกรมป่าไม้นำนวัตกรรมเพาะเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา (เห็ดป่า) พร้อมเร่งรัดให้กรมป่าไม้ดำเนินการแจกจ่ายกล้าไม้ที่ได้รับการผสมเชื้อเห็ดชนิดต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน ได้นำไปปลูกพื้นที่ของตัวเอง เพื่อการบริโภคและเพิ่มรายได้แก่ครอบครัว และที่สำคัญเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับประเทศ อีกทั้งจะช่วยลดการเผาป่าเพื่อหาเห็ดในช่วงหน้าแล้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือที่ประชาชนมีความเชื่อว่าถ้าเผาป่าจะมีเห็ดเกิดขึ้น นายจตุพร กล่าว
นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้ ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการนำเชื้อเห็ดผสมไปกับการเพาะชำกล้าไม้ โดยเฉพาะในกล้าไม้วงศ์ไม้ยางนา โดยได้ดำเนินการในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งฯ จังหวัดยโสธร รวมพื้นที่ 5 ไร่ จากการติดตามผลการดำเนินงาน พบว่า สวนป่าไม้ยางนา ให้ผลผลิตเห็ดเผาะเฉลี่ยต่อต้นถึงเกือบ 1 กิโลกรัม พี่น้องประชาชนสามารถเก็บเห็ดเพื่อบริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้ โดยราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 300-400 บาท
อธิบดีกรมป่าไม้ ได้ให้คำอธิบายถึง ไมคอร์ไรซา ว่า เป็นกลุ่มราที่สามารถสร้างดอกเจริญพ้น ผืนดิน หรือบางชนิดสร้างดอกอยู่ใต้ดิน โดยทั่วโลกพบว่ามีมากกว่า 7,000 ชนิด สำหรับในประเทศไทย ที่พบ ได้แก่ เห็ดก่อ เห็ดน้ำหมาก เห็ดผึ้ง เห็ดเผาะ เห็ดหล่ม เห็ดตะไคล เป็นต้น ถือเป็นเห็ดป่าที่กินได้และได้รับความนิยมนอกจากนี้ยังมีรายงานวิจัยถึงความสามารถของเชื้อราไมคอร์ไรซาว่าเป็นตัวการหนึ่งที่ช่วยเก็บกักก๊าซคาร์บอน โดยพบว่าดินที่เต็มไปด้วยเชื้อรา ectomycorrhizal มีปริมาณคาร์บอนสะสมมากกว่าร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับดินที่มีเชื้อรา arbuscularmycorrhizal ซึ่งเชื้อรา ectomycorrhizal มีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่าเชื้อรา arbuscularmycorrhizal ส่งผลให้ความสามารถในการย่อยสลาย ซากพืชช้าลงจากกระบวนการย่อยสลาย ส่งผลให้ปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศช้าลงและ กักเก็บคาร์บอนไว้ในดิน“ไมคอร์ไรซา”จะอาศัยอยู่กับรากพืชบางชนิดเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้น หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มไม้วงศ์ยาง เช่น ยางนา ยางเหียง ยางพลวง เต็ง รัง ยางกราด พะยอม ตะเคียนทอง เป็นต้น
สำหรับนวัตกรรมการเพาะเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา (เห็ดป่า) ในกล้าไม้วงศ์ยาง สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ ใช้เทคนิคการปลูกเชื้อไมคอร์ไรซาด้วยสารแขวนลอยสปอร์ โดยจะเตรียมเชื้อในช่วงเดือน มิถุนายน – กรกฎาคมของทุกปี ซึ่งเป็นฤดูเห็ดเผาะธรรมชาติจะแก่ โดยนำดอกแก่มาผ่าเอาเฉพาะถุงสปอร์ ผสมน้ำ (อัตราส่วน 1: 20) นำไปปั่นด้วยเครื่องปั่นผลไม้จนละเอียด จากนั้นรดหรือฉีดเชื้อเห็ดลงในดินของกล้าไม้อายุ 1 เดือน ที่เตรียมไว้ ปริมาณ 50 – 60 ซีซีต่อต้น โดยหยอด 2 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือน เพื่อความสมบูรณ์ของการเดินเชื้อในระบบราก เมื่อกล้าไม้อายุ 1 ปี สามารถนำไปปลูกในพื้นที่ได้โดยหลังจากปลูก 3 ปี พบว่า จะเกิดเห็ดเผาะหนังขึ้น 3-4 ดอกต่อต้น เมื่ออายุ 4-5 ปี จะมีปริมาณเห็ดเผาะเพิ่มขึ้น รวมถึงดอกเห็ดระโงก เห็ดตะไคล เห็ดน้ำหมาก และเห็ดก่อ นายสุรชัย กล่าว
ทั้งนี้เกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติม ได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ อาคารสุรัสวดี 61 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทรศัพท์ 025614292-3 ต่อ 5474
——————————————–