วช.เร่งขับเคลื่อนโครงการ“ชุมชนไม้มีค่า”
จับมือ11 หน่วยงานพันธมิตรร่วมดำเนินการ
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จับมือพันธมิตร 11 หน่วยงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมป่าไม้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.)เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ “ชุมชนไม้มีค่า”
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 อนุมัติในหลักการให้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ “ชุมชนไม้มีค่า” โดยมอบหมายให้ วช. เป็นเจ้าภาพในการบูรณาการร่วมกับ ๔ หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมป่าไม้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.)
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 11 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สมาคมธุรกิจไม้ สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ “ชุมชนไม้มีค่า” เพื่อสนับสนุนประชาชนให้ปลูกไม้มีค่าเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นการเก็บออมและสร้างอาชีพที่มั่นคงยั่งยืนแก่ประชาชนฐานราก โดยการผลักดันกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ ในการส่งเสริมให้มีการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือที่ดินที่มีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น
สำหรับการดำเนินโครงการ“ชุมชนไม้มีค่า”เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งทางด้านกฎหมาย, ด้านการเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ และคัดกรองพื้นที่เป้าหมาย, ด้านการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการสนับสนุนการปลูกและการใช้ประโยชน์ โดยมีกลไกการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ วช. ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่าโดยนำองค์ความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่ พร้อมทั้งให้มีการทำวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์ไม้มีค่าให้มีลักษณะเฉพาะที่สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเรื่องต่าง ๆ
ส่วนกรมป่าไม้ ดำเนินการจัดทำ ปรับปรุง แก้ไข และบริการวิชาการเรื่องพระราชบัญญัติ กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการปลูกและการตัดไม้ รวมทั้งสนับสนุนการคัดเลือก เพาะพันธุ์ไม้ และการขยายพันธุ์ไม้มีค่า สพภ. ดำเนินการเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งจัดทำเกณฑ์มาตรฐาน การประเมินมูลค่าไม้ และ ธ.ก.ส. ดำเนินการจัดทำรายละเอียด เกณฑ์มาตรฐานการประเมินมูลค่าไม้ และเรื่องการใช้ต้นไม้เป็นหลักประกัน รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และเตรียมกลไกผลักดันอย่างเร่งด่วนและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการสนองผลตามนโยบายกลไกประชารัฐและไทยนิยมยั่งยืน เพื่อให้คนไทยสามารถปลูกไม้มีค่าในพื้นที่กรรมสิทธิ์และสามารถใช้ประโยชน์จากต้นไม้มีค่าเป็นต้นทุนของครอบครัวที่มีมูลค่าสูง มีระบบกำกับ ควบคุมตรวจสอบ และรับรองไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายให้เกิดชุมชนไม้มีค่า 20,000 ชุมชน ภายใน 10 ปี ส่งเสริมและขยายผลให้ประชาชน 2.6 ล้านครัวเรือน ปลูกต้นไม้รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,000 ล้านต้น ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 26 ล้านไร่ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 1 ล้านล้านบาทต่อปี เพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของชาติตั้งแต่ฐานราก อันจะเป็นการสร้างอาชีพที่มั่นคง ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้
——————————————————–