สหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงพบพระ จำกัด สหกรณ์โครงการหลวงดีเด่น อันดับ 1 ปี 2564
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์มีแนวทางพัฒนาสหกรณ์ ในพื้นที่โครงการหลวง ให้เป็นองค์กรชุมชนและศูนย์กลางการส่งเสริมอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับราษฎรบนพื้นที่สูง เสริมสร้างความร่วมมือในธุรกิจร่วมกันระหว่างสหกรณ์กับมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์การผลิตการตลาด และเงินทุนต่างๆ ให้สหกรณ์นำไปดำเนินธุรกิจและรับซื้อผลผลิตของสมาชิก และในแต่ละปี กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดประกวดสหกรณ์และบุคคลดีเด่นในพื้นที่โครงการหลวงขึ้น เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับสหกรณ์และสมาชิก รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมสหกรณ์ โดยคัดเลือกสหกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการที่ดี ดูแลส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิกได้สำเร็จ เสริมสร้างสมาชิกให้มีสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต มีความเพียรรอบคอบอดทน ปฏิบัติตนจากฐานชีวิตดั้งเดิมสู่ความพอเพียง และในปี 2564 รางวัลสหกรณ์ดีเด่น อันดับ 1 เป็นของสหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงพบพระ จำกัด จังหวัดตาก ซึ่งจะได้รับโล่และเงินรางวัล 50,000 บาทจากกรมส่งเสริมสหกรณ์
สำหรับสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2536 โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ร่วมกับมูลนิธิ โครงการหลวง และสถาบันวิจัยพื้นที่สูง จัดตั้งสหกรณ์และกลุ่มเตรียมสหกรณ์ขึ้นในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ระยะแรกมีสหกรณ์ 3 แห่ง กลุ่มเกษตรกร 2 แห่ง กลุ่มเตรียมการสหกรณ์ 10 แห่ง กลุ่มอาชีพ 1 แห่ง ปัจจุบันได้ขยายผลในหลายพื้นที่ เพื่อใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่และการทำกินให้กับราษฎรบนพื้นที่สูงใน 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน ลำพูน พะเยา ตาก กำแพงเพชร กาญจนบุรี ลำปาง และเพชรบูรณ์ มีสหกรณ์จำนวน 56 แห่ง กลุ่มเกษตรกร 2 แห่ง กลุ่มเตรียมการสหกรณ์ 5 แห่ง จำนวนสมาชิกรวม 10,407 ครอบครัว
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้น้อมนำแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาดำเนินการ นอกจากส่งเสริมสนับสนุนให้สมาชิกสหกรณ์เพาะปลูกพืชผักเมืองหนาว ซึ่งเหมาะสมกับสภาพของพื้นที่แล้ว ยังสนับสนุนเงินทุนและกลไกการตลาดจัดสร้างโรงเรือนคัดแยกผลผลิตอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ตะกร้าใส่ผลผลิตเพื่อการขนส่งให้สหกรณ์
“จากผลดำเนินการทำให้สมาชิกสหกรณ์มีรายได้ประจำทุกวัน นอกจากนี้สหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงพบพระ จำกัด ยังมีการเพาะปลูกกันชงเพื่อนำเส้นใยมาทอผ้า ซึ่งสร้างรายได้ให้กับพี่น้องชนเผ่าเป็นอย่างดี ซึ่งมีหลายเผ่าอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและมีรายได้ สามารถดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมพื้นที่ป่าต้นน้ำให้มีความสมบูรณ์ ตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการเข้ามาส่งเสริม จากส่วนงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง” นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ กล่าว
ทางด้านนางสินีนาถ อ่อนนวล ผู้อำนวยการกลุ่มจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดตาก เปิดเผยว่าสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง จังหวัดตาก มีด้วยกัน 2 แห่ง คือสหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง พบพระ จำกัด อำเภอพบพระ และสหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สอง จำกัด อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ทั้ง 2 แห่งได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการส่งเสริมสมาชิกสหกรณ์ ได้นำไปใช้ในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ
“ในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าใช้ชีวิตแบบครอบครัวขยายมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อดีตเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว และขยายพื้นที่ทุกปี ทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่า มีพ่อค้าสนับสนุนเงินทุนเมล็ดพันธุ์และสารเคมีพร้อมนำระบบตกเขียวเข้ามาใช้ ทำให้ราคาผลผลิตตกอยู่ที่พ่อค้าคนกลาง ส่วนรายได้ของเกษตรกรจะน้อยจึงไม่เพียงพอในการเลี้ยงชีพเกิดปัญหาหนี้สิน หลังจากจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นมา ทำให้ปัญหานี้หมดไป เกษตรกรเข้าถึงเงินทุนจากภาครัฐมีการผลิตที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ สามารถยกระดับมาตรฐานสินค้าสู่ GAP และเกษตรอินทรีย์ทำให้มีตลาดแน่นอนโดยมีระบบสหกรณ์เป็นกลไกรองรับ” นางสินีนาถ อ่อนนวล กล่าว
ทางด้านนายวีรพงษ์ อาชาวัฒนกุล เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงพบพระ จำกัด ซึ่งปลูกพริกหวาน เผยว่า ตนเป็นชนเผ่าที่อยู่ห่างไกลความเจริญ มีความรู้สึกดีใจและประทับใจมากที่ในหลวงช่วยให้ได้เข้าถึงโอกาสในการดำรงชีพ ได้รับผลตอบแทนสูง ประทับใจและภูมิใจที่ได้ทำตามคำสอนของในหลวง ทำให้ชีวิตดีมากขึ้นดีกว่าเดิม มีแบบแผนจัดวงรอบการเพาะปลูกทำให้มีสินค้าส่งตลาดอย่างต่อเนื่อง และไม่โดนกดราคาจากพ่อค้า
“นับตั้งแต่เป็นสมาชิกสหกรณ์ ได้เข้าร่วมทำกิจกรรมหลายอย่างชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงมาก ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ประทับใจมากผมเป็นลูกหลานของท่าน ภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นลูกของท่าน ดีใจที่ท่านเปิดโอกาสแล้วหาช่องทางดี ๆ ช่วยเหลือลูกหลานของท่าน ยังนึกถึงพระองค์อยู่ทุกวันคงไม่มีใครที่จะสอนและเปิดใจได้อย่างที่ท่านสอนพวกเรา” นายวีรพงษ์ อาชาวัฒนกุล กล่าว
สำหรับโครงการหลวงพบพระ เกิดขึ้นเนื่องจากเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 นายอำเภอพบพระ ในขณะนั้น ได้มีหนังสือถึงประธานมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อขอพิจารณาดำเนินการจัดตั้งโครงการขยายผลโครงการหลวง ในพื้นที่ 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลคีรีราษฎร์ และตำบลรวมไทยพัฒนา เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และรักษาป่าผืนใหญ่ของประเทศไว้ให้อุดมสมบูรณ์สืบไป ซึ่งมูลนิธิโครงการหลวงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เข้าดำเนินการพัฒนา โดยเริ่มดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงพบพระ ในปีที่ พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสนองงาน โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้การสนับสนุนการจัดตั้งขบวนการสหกรณ์ให้เกษตรกรในโครงการฯ ทำให้ขบวนการผลิตและการตลาดเป็นไปอย่างครบถ้วนยังผลประโยชน์แก่ราษฎรอย่างเต็มที่
———————— ————————————————–